top of page

เก็บข้อมูลเศรษฐกิจย่าน ไปกับ Placemaking Thailand ✨💬📊

เก็บข้อมูลเศรษฐกิจย่าน วัดความรู้สึกต่อพื้นที่สาธารณะแบบจอยๆ

#เก็บข้อมูลให้สนุก 🧩🎉

เคยมีคนถามคำถามเหล่านี้กับคุณไหม….

“รู้สึกอย่างไรกับสถานที่นี้?”

“วันนี้ขายได้เยอะไหม?”

“เดินมาจากทางไหน?”


ในเทศกาล Placemaking Week Bangkok 2023 ที่ผ่านมา Urban Studies Lab หรือ ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง ได้ทำกิจกรรมหลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือ “การเก็บข้อมูลย่าน” พวกเราขอนำเครื่องมือการเก็บข้อมูลเศรษฐกิจย่าน เส้นทางเดิน และความรู้สึกต่อพื้นที่สาธารณะ มาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน : )


✏️เครื่องมือแรก! ป้ายแสดงความรู้สึกต่อพื้นที่สาธารณะ


พวกเรานำหลักการ 12 Criteria “What Makes A Great Place?” ของ Jan gehl มาใช้ในการวัดคุณภาพของพื้นที่สาธารณะ ได้แก่

1. ปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจร (Protection against traffic & accident)

: สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้สัญจร ทั้งเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจร ความกลัวเกี่ยวกับการจราจร และอุบัติเหตุอื่นๆ

2. ปลอดภัยจากอาชญกรรม (Protection against  crime & violence)

: ความปลอดภัยของพื้นที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่ใช้งาน โดยอาจพิจารณาจากไฟถนน กล้องวงจรปิด โครงสร้างและอัตลักษณ์ของสังคม การใช้งานทับซ้อนกับในพื้นที่ แสงส่องสว่างในยามมืด 

3. ปลอดภัยมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม (Protection against unpleasant sense experienced)

: มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงดัง ฝุ่น ควัน กลิ่นเหม็น ความสกปรก การถูกบดบังสายตา ที่อาจส่งผลกับการใช้พื้นที่สาธารณะนั้นๆ

4. เดินดี (Possibilities for walking)

: ควรมีพื้นที่สำหรับเดิน มีการออกแบบเส้นทางที่เหมาะกับการเดิน ทั้งรูปแบบทาง วัสดุพื้นที่ผิว การเปลี่ยนระดับ และระยะทางพอเหมาะ ที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานได้

5. ยืนดี (Possibilities for standing)

: พื้นที่สาธารณะที่ดี ควรมีบริเวณและพื้นที่สำหรับยืนอย่างเหมาะสม

6. นั่งสบาย (Possibilities for sitting)

: มีบริเวณสำหรับนั่งที่หลากหลาย ทั้งให้นั่งสบายๆ หรือนั่งพักผ่อน

7. มองเพลิน (Possibilities for seeing)

: การมอง ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะ โดยควรมีระยะมองที่ไม่ถูกบังโดยสิ่งกีดขวาง และมีแสงสว่างเพียงพอ

8. คุยเพลิน (Possibilities for hearing and talking)

: เสียงรบกวนไม่มากเกินไป และให้ระยะของกลุ่มพูดคุยที่เหมาะสม โดยพื้นที่นั้นๆ ควรจะมีองค์ประกอบที่เอื้อต่อการเปิดวงสนทนาด้วย เช่น มีม้านั่งในสวน

9. เล่นกันได้ (Possibilities for play / unwinding)

: พื้นที่นั้นควรมีพื้นที่สามารถเล่น เต้นรำ เล่นดนตรี แสดงละคร การปราศรัย และกิจกรรมอื่นๆ โดยผู้คนที่แตกต่างกันทั้งอายุหรือกลุ่มคน

10. ขนาดพอดีตัว (Small scale services)

: มีป้ายสัญลักษณ์ ตู้โทรศัพท์ กล่องไปรษณีย์ กระดานข่าว แผนที่ รถเข็นเด็ก หรือกระดาษชำระ/ผ้าเช็ด เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นมิตร

11. สภาพแวดล้อมดี (Designing for Enjoying positive climate elements)

: สภาพแวดล้อมที่ดีจะทำให้คนใช้งานพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เช่น แสงแดด อากาศร้อน/เย็นพอเหมาะ และลมที่ถ่ายเทดี

12. เพลิดเพลิน (Designing for Positive sense exercises)

: มีการออกแบบเพื่อความจรรโลงใจ ทัศนียภาพที่สวยงาม อาจประกอบด้วยความเป็นธรรมชาติ พืชพันธุ์ ต้นไม้ และสัตว์ต่างๆ


โดยผู้คนที่เดินผ่านไปมาสามารถแปะสติ๊กเกอร์ตามช่องคำอธิบายความรู้สึกที่มีต่อพื้นที่ พวกเราวางไว้ 5 พื้นที่ด้วยกัน ในเทศกาล Placemaking Week Bangkok 2023

1. โรงเรียนสตรีจุลนาค : มีงาน City Pop-Up ที่ตั้งงานตลาดนัดสร้างสรรค์ กิจกรรมและนิทรรศกาลเกี่ยวกับงานศิลปะ

2. สวนจักรพรรดิพงษ์ : เปลี่ยนพื้นที่รกร้างในพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่สวนชุมชน

3. ลานหน้าโรงเรียนวัดโสมนัส : จัดตลาดนัดผดุงชิม

4. บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงหน้าโรงเรียนวัดโสมนัส : ที่จัดแสดง Cerca pavilion

5. บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงหน้าโรงเรียนสายปัญญา-หัวลำโพง : ที่จัดแสดง Bamboosaurus pavilion



🪑 ทำแล้วได้อะไร?

: เครื่องมือนี้ เป็นหนึ่งรูปแบบที่ช่วยให้พวกเราสามารถเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงในพื้นที่ได้อย่างเปิดกว้าง ทำให้เราทราบถึงความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อพื้นที่สาธารณะนั้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาพื้นที่ได้ในอนาคต เช่น หากพื้นที่ไหนมีคนรู้สึก ‘ปลอดภัยน้อย’ ก็อาจจะพิจารณาการเพิ่มโครงสร้างที่ทำให้ปลอดภัยขึ้น หรือพื้นที่ ‘เพลิดเพลิน’ ก็เหมาะที่จะต่อยอดเป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ต่อไป



✏️เครื่องมือที่สอง! กิจกรรมเลขท้ายเสี่ยงความรู้สึก

กิจกรรมเสี่ยงทายร่วมกับร้านอาหารในย่านนางเลิ้งที่ร่วมรายการ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดยนำเลขท้ายของยอดซื้อในใบเสร็จ มาแลกรับสติ๊กเกอร์ที่ออกแบบจาก “What Makes A Great Place?” ของ Jan gehl นั่นเอง

ร้านที่เข้าร่วมจะมีใครบ้างน้า ไปดูกัน~

1. นา คาเฟ่ (เครื่องดื่ม และขนม)

2. แป้งร่ำคาเฟ่ (กาแฟ ขนม และอาหารเช้า)

3. เอมบาสซี่ คอฟฟี่ (กาแฟ และขนม)

4. ไฮลี่ไดฟุกุ (ขนมไดฟุกุ)

5. ละเลียดนางเลิ้ง (อาหารคาว และเครื่องดื่ม)



🪑 ทำแล้วได้อะไร?

: เป็นเครื่องมือนำร่องที่ใช้วัดเศรษฐกิจร้านค้าในท้องถิ่น ผ่านการเก็บมูลค่าจากใบเสร็จที่ผู้ซื้อนำมาแลก เพื่อการเก็บข้อมูลทางเศรษฐกิจระหว่างการจัดกิจกรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมเทศกาล Placemaking Week Bangkok 2023 กับร้านค้าท้องถิ่นอีกด้วย



✏️เครื่องมือสุดท้าย กิจกรรมลากบอกความรู้สึกต่อเส้นทางผ่านโปสการ์ด

โปสการ์ดนี้ จะทำให้เราหันมาใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางมากขึ้น เพราะนี่เป็นโปสการ์ดที่ชวนผู้เข้าร่วมเทศกาล Placemaking Week Bangkok 2023 มาคิดว่า “คุณเดินมาจากไหน?” และ “เส้นทางที่เดินมาคุณรู้สึกอย่างไร?”


🪑 ทำแล้วได้อะไร?

: ทำให้พวกเราได้ทราบถึงเส้นทางหลักที่ถูกใช้บ่อยๆ ในการเดินทาง เชื่อมโยงกับความหนาแน่นของการสัญจร และการรับรู้ของผู้คน



หลังจากทำความรู้จักกับเครื่องมือเก็บข้อมูลในเทศกาล Placemaking Week Bangkok 2023 ครบแล้ว ทีนี้คำถามว่า “รู้สึกอย่างไรกับสถานที่นี้?” “วันนี้ขายได้เยอะไหม?” และ “เดินมาจากทางไหน?” จะได้คำตอบที่ไม่เหมือนเดิม แต่จะเป็นสิ่งที่สะท้อนองค์ประกอบของเมืองได้ด้วย


8 views0 comments

Comments


bottom of page