top of page

โครงการ ‘ประชาคมบางกะปิร่วมฟื้นฟูกรุงเทพฯ เพื่อการเดินเท้าสำหรับทุกคน’



โครงการที่นำข้อมูลพื้นฐานเมือง ภายใต้ความร่วมมือทั้ง 4 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ, เอกชน, ประชาชน หรือภาควิชาการ มาศึกษาเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบและวางผังแม่บท เพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยทางเท้าสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ร่วมกับประชาคมบางกะปิ และได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดทำมาตรฐานการออกแบบทางเท้าที่ตอบโจทย์ความเฉพาะของย่านบางกะปิ ทั้งในด้านกายภาพของทางสัญจรที่ซับซ้อน, โครงการพัฒนารถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง, และด้านความหลากหลายของการใช้งาน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างปลอดภัย และสะดวกสบาย โดยไม่ถูกจำกัดด้วยความแตกต่างทางร่างกายหรือเศรษฐานะ ภายใต้หลัก Universal Design นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและปลอดภัยสำหรับทุกคน .

ปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรฐานทางเท้าและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและจัดการทางเท้าที่หลากหลายแต่ยังขาดการบูรณาการร่วมกันเป็นแผนการ ขาดการทำงานร่วมแบบอิงบริบทของพื้นที่ และไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน การจัดทำมาตรฐานทางเท้าเฉพาะย่านในโครงการนี้เป็นการเชื่อมผู้รับผิดชอบในการออกแบบ ก่อสร้าง จัดการและใช้งานทางเท้าย่านบางกะปิมาออกแบบทางเท้าร่วมกัน มีการวิเคราะห์พื้นที่ในหลากหลายมิติ เพื่อให้ได้รูปแบบทางเท้าที่ตอบโจทย์ความเฉพาะตัวของบางกะปิ ที่ถึงแม้ย่านอื่น ๆ อาจจะนำไปใช้ไม่ได้ 100% แต่สามารถใช้กระบวนการออกแบบแบบเดียวกันได้ .

มาตรฐานทางเท้าและการออกแบบกายภาพที่สวยงามร่วมกันทุกภาคส่วนนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการมีทางเท้าที่ดีสำหรับทุกคนในย่านบางกะปิ จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบวิธีการจัดการทางเท้าอย่างมีส่วนร่วมและการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าควรใช้ทางเท้านี้ร่วมกันอย่างไร เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการมีทางเท้าที่ดีสำหรับทุกคนในย่านเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน .

แนวทางการออกแบบที่เห็นทางโพสต์นี้ได้ถูกส่งต่อให้บริษัท ไอซอร่า ดีไซน์ จำกัด ทำการออกแบบรายละเอียดและเขียนแบบก่อสร้างเพื่อส่งต่อให้เขตบางกะปิได้ใช้สำหรับปรับพื้นที่ทางเท้าต่อไป อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราอยากให้เกิดต่อจากนี้คือการทดลองสร้างงานออกแบบนี้บนพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนจะนำไปปรับใช้ทั้งเขต เพื่อให้ผู้คนได้ทดลองใช้และออกความเห็น เพื่อให้ได้ทางเท้าที่เหมาะสมกับบางกะปิมากที่สุดก่อนจะนำไปสร้างจริง ซึ่งจะช่วยให้ได้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยถึงการจัดการอย่างมีส่วนร่วมในอนาคตอีกด้วย


ทั้งนี้ทาง USL ขอขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA), คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA), บริษัท ไอซอร่า ดีไซน์ จำกัด, และภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ประชาคมชาวบางกะปิ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่มาร่วมกันแบ่งกันองค์ความรู้ ให้ความคิดเห็น จนออกมาเป็นงานชิ้นนี้ในที่สุด



| ทางเท้าแคบบนถนนใหญ่

มาตรฐานทางเท้าแบบแรกนี้เป็นมาตรฐานสำหรับทางเท้าที่มีข้อจำกัดของความกว้างบนถนนขนาดใหญ่ จุดเด่นของมาตรฐานนี้คือการเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทางเท้าโดยการยกทางข้ามขึ้นมาที่ระดับเดียวกับทางเท้า (Raised crosswalk) ทำให้ผู้ใช้ทางเท้าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระดับจึงไม่ต้องทำทางลาดสำหรับรถเข็น ไม่ว่าจะเป็นรถเข็นของผู้พิการ รถเข็นของคุณแม่ หรือรถเข็นของร้านค้าแผงลอย ที่ต้องการความกว้างซึ่งเหมาะกับการปรับปรุงทางเท้าที่มีขนาดแคบอยู่แล้ว ทางข้ามที่ยกขึ้นทำให้รถต้องชะลอความเร็วเมื่อขับผ่านทางข้ามนี้



| ทางเท้าสำหรับพื้นที่ค้าขายที่ทุกคนใช้ได้

มาตรฐานทางเท้าแบบที่ 2 เป็นมาตรฐานทางเท้าสำหรับพื้นที่พาณิชยกรรมติดถนนขนาดใหญ่ โดยกำหนดให้มีพื้นที่ค้าขายหน้าร้านค้า แยกกับบริเวณทางสัญจรและ แยกกับบริเวณสำหรับองค์ประกอบอื่น ๆ ของทางเท้า เช่น ที่นั่ง ต้นไม้ เสาไฟ ป้ายรถต่าง ๆ การกำหนดบริเวณต่าง ๆ แยกกันทำให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจัดการและการสื่อสารให้ทุกคนทราบถึงการกำหนดบริเวณการใช้งานเหล่านี้และสามารถใช้งานร่วมกันกับกลุ่มผู้ใช้อื่น ๆ ได้ด้วยความเข้าใจ



| ทางเท้าที่รองรับการค้าขายคึกคัก

มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานทางเท้าสำหรับพื้นที่พาณิชยกรรมหนาแน่นติดถนนขนาดใหญ่ มีการแยกบริเวณสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกับแบบที่ 2 แต่แตกต่างตรงที่มีขนาดกว้างกว่าถึง 2 เท่า เพื่อตอบสนองพื้นที่ค้าขายหนาแน่นเช่นบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าหรือหน้าตลาดซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะย่านบางกะปิ การข้ามถนนของทางเท้าแบบที่ 2 และ 3 จะเป็นการปูดทางข้ามออกมา เพื่อให้รถไม่ต้องชะลอตัวทุกเลน และทำให้มีพื้นที่พักคอยของคนข้ามถนนโดยไม่กีดขวางคนที่ไม่ได้จะเดินข้าม



| ทางเท้าในซอยที่ไม่มีทางเท้า

ซอยย่อยในย่านบางกะปินั้นเป็นซอยที่แคบและบางซอยมีระดับที่สูงกว่าถนนคือสูงเท่าทางเท้าด้านที่ติดกับถนนใหญ่อยู่แล้ว จึงเกิดเป็นมาตรฐานทางเท้าแบบที่ 4 คือ มาตรฐานทางเท้าสำหรับถนนซอยที่ระดับในซอยเท่ากับระดับทางเท้า เนื่องจากซอยย่อยนั้นแคบ การยกระดับทางเท้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ซอยแคบลงไปอีก จึงกำหนดบริเวณทางเท้าด้วยการตีเส้นทางเดินและ Guiding block เท่านั้น การข้ามถนนซอยย่อยแบบนี้จะเป็นการข้ามแบบ Raised cross walk เนื่องจากซอยย่อยลักษณะนี้จะอยู่บริเวณที่มีการสัญจรของคนหนาแน่นกว่ารถ



| ทางเท้าซอยที่ซอยกับถนนสูงเท่ากัน

มาตรฐานทางเท้าสำหรับซอยย่อยที่ซอยกับถนนอยู่สูงเท่ากันเป็นมาตรฐานแบบสุดท้ายโดยมี 2 แบบสำหรับ 2 สถานการณ์คือ


1. เป็นซอยที่มีการสัญจรของรถหนาแน่น หากยกทางข้ามจะมีผลกระทบสูง จึงลดระดับทางข้ามให้เท่ากับระดับถนนด้วยการใช้ทางลาด และเนื่องจากซอยย่อยลักษณะนี้มีความกว้างไม่เท่ากันผู้ออกแบบสามารถเลือกยกระดับทางเท้าได้หากมีพื้นที่สัญจรของรถมากกว่า 5.4 เมตร


2. เป็นซอยที่การสัญจรของรถไม่หนาแน่นมากนักสามารถยกระดับทางข้ามเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกของผู้ใช้ทางเท้าได้ ผู้ออกแบบสามารถเลือกยกระดับทางเท้าได้หากมีพื้นที่สัญจรของรถมากกว่า 5.4 เมตร

Comments


bottom of page