USL Book Review โดย ณิชาภัทร สนั่นศิลป์
ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ชาตรี ประกิตนนทการ เขียน
อ.ชาตรีมีวิธีการเขียนที่เข้าใจง่าย เรียบเรียงเหตุการณ์ให้เห็นภาพชัดเจนตั้งแต่วันที่ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎรเกิดขึ้น จนถึงวันที่ถูกรื้อถอนไปแม้จะมีสถานะเป็นโบราณสถาน มาจนถึงวันที่รัฐบาลทหารบังคับสูญหายหมุดคณะราษฎรและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน ผู้อ่านสามารถมองเห็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยหลัง พ.ศ.2475 ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มักไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้ผู้คนในวงกว้างได้เรียนรู้ แม้กระทั่งตัวเราเองซึ่งเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมในประเทศไทยผ่านแว่นตาของการเมืองการปกครองในประเทศไทยเลย
โดยในการพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ ห่างจากการพิมพ์ครั้งแรก 11 ปี อ.ชาตรีรวบรวมบทความที่ตนเองได้เขียนเพิ่มขึ้นมาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ถึง 4 บท ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการรัฐประหารคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตร และเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทยช่วงหนึ่ง โดยทั้ง 4 บทที่ว่าคือ บทที่ 4 – โดมธรรมศาสตร์และการเมือง, บทที่ 7 – สิ่งของ(คณะ)ราษฎร, บทที่ 8 – เหตุผลที่สังคมไทยไม่ควรยอมให้ “รื้อ – สร้าง” กลุ่มอาคารศาลฎีกา และ บทที่ 9 – คณะราษฎรหลังรัฐประหารฯ 19 กันยาฯ 49
ในการรีวิวหนังสือครั้งนี้ เราขอยกแค่บางส่วนที่โดดเด่นและเป็นจุดที่เปลี่ยนมุมมองของเราต่อสถาปัตยกรรมในประเทศไทยมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ
เมื่อเราได้เริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ที่บทที่ 1 ก็เป็นความประทับใจครั้งแรกที่ทำให้เราตื่นเต้นกับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในยุคนี้เป็นอย่างมาก โดยบทที่ 1 นี้ “ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร พ.ศ. 2475-2490” ได้เปิดมุมมองประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมของเราต่อการแบ่งยุคสมัยด้วยที่มาที่แตกต่างกัน ด้วยความที่วิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่เคยได้เรียนเมื่อตอนยังเป็นนิสิตนั้นได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากวัฒนธรรมยุโรป เช่น การแบ่งยุคด้วยคำว่า Art Deco, International Style, De Stijl, Neoplasticism, Brutalist Architecture, Modern Art, Expressionism ฯลฯ ในขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” ในบริบทของสังคมไทยต่างกับยุโรปโดยสิ้นเชิง ทำให้การมองยุคสมัยทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในไทยถูกครอบด้วยมุมมองของฝั่งตะวันตก และลดทอนเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยไป หรือแม้กระทั่งการตีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในการออกแบบก็มีความหมายแตกต่างกันไปด้วย เนื่องจากสัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในยุคหลัง พ.ศ. 2475 หรือ ค.ศ. 1932 นั้นตรงกับรูปแบบ Art Deco, International Style, หรือ Fascist Art การนำคำนิยามเหล่านี้มาใช้ในบริบทของไทยโดยปราศจากข้อเท็จจริงที่รูปแบบสถาปัตยกรรมผ่านการทำให้ “กลายเป็นท้องถิ่น” (Localised) ตรงกับช่วงเวลาสำคัญของคณะราษฏร ซึ่งการลดทอนรายละเอียดในสถาปัตยกรรมแบบจารีตของไทยเป็นการใส่สัญลักษณ์ทางการเมืองที่แสดงถึง “สามัญชน” และ “ความเสมอภาค” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อ.ชาตรีจึงเสนอนิยามใหม่ในชื่อ “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” และ “ศิลปะคณะราษฎร” ไว้ ซึ่งอ.ชาตรีได้เล่าถึงความหมายดังกล่าวผ่านการวิเคราะห์ผ่านบริบททางสังคมและการเมืองไทยไว้ในหนังสือเล่มนี้
.
ในบทที่ 2 – เมรุคราวปราบกบฏบวรเดช: เมรุสามัญชนครั้งแรกกลางท้องสนามหลวง ยังเป็นจุดเชื่อมโยงสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมที่สำคัญคือเมรุและสนามหลวงที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สำคัญของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งเดิมทีสามัญชนไม่มีเมรุสำหรับเผาศพเป็นที่เป็นทาง แต่เป็นการวางศพบนฟืน หรือ “เชิงตะกอน” ซึ่งสนามหลวงนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ปลูกสร้างพระเมรุมาศในงานพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น แม้จะเริ่มมีการใช้งานอื่นๆ เช่น การแสดงปลูกข้าว ซ้อมรบ เล่นโขน ฯลฯ แต่สนามก็ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะหรือให้คนธรรมดาเข้ามาใช้งานได้ ในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชนี้จึงทำให้รัฐบาลได้จัดการปลงศพทหารและตำรวจที่เสียชีวิตซึ่งเป็นสามัญชนในการปราบกบฏที่สนามหลวงเป็นครั้งแรก แล้วหลังจากนั้นเป็นต้นมาการเผาศพของสามัญชนด้วยเมรุจึงถูกใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากบทที่ 1 และ 2 แล้ว อีกบทที่น่าประทับใจสำหรับเราคือบทที่ บทที่ 8 – เหตุผลที่สังคมไทยไม่ควรยอมให้ “รื้อ – สร้าง” กลุ่มอาคารศาลฎีกา และ บทที่ 9 – คณะราษฎรหลังรัฐประหารฯ 19 กันยาฯ 49
เนื้อหาของสองบทนี้น่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะเป็นเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านไปไม่นานอยู่ในช่วงชีวิตของเราซึ่งเป็นผู้อ่านรวมไปถึงนักเรียน นิสิต และนักศึกษาในปัจจุบัน บางเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันขณะที่กำลังเขียน book review ชิ้นนี้อยู่ด้วยซ้ำ หากมองย้อนไปถึงบทที่ 1 ซึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์คณะราษฎรจะเห็นได้ว่ามีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหรือศิลปะที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอยู่มากมาย แต่ในหนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์จากการรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกา เนื่องจากเป็นการรื้อทิ้งที่ขัดแย้งกับหลักการของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย เนื่องจากกลุ่มอาคารศาลฎีกามีความสำคัญในแง่ของสัญลักษณ์ของเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล สืบเรื่องมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่ทำให้ไทยเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เมื่อคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ยื่นเสนอแก้กฏหมายและได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางศาล นอกจากนี้ยังเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่สำคัญของไทย เมื่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาตร์ไม่ได้รับการจดจำแถมยังทุบอาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์นั้นอีก จึงเป็นความสูญเสียทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของไทย และคุณค่าของการเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก
.
หลังจากกลุ่มอาคาศาลฏีกาถูกทุบทิ้ง ก็มีสถาปัตยกรรมและศิลปะที่ถูกบังคับสูญหายอีกเรื่อยๆ เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่แม้ว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรแล้วก็ยังไม่สามารถรักษาไว้ได้ หรือหมุดคณะราษฎร ที่ถูกทำให้หายไปแล้วนำมาเปลี่ยนด้วยหมุดอันใหม่ที่สื่อความหมายต่างออกไปจากเดิม แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าสนใจกว่าที่คิดเนื่องจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับสูญหายสถาปัตยกรรม สิ่งของ และศิลปะคณะราษฎร ได้นำเอาตัวหมุดคณะราษฎรมาผลิตซ้ำในรูปแบบของจานรองแก้ว สติกเกอร์ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมายเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของตนเอง จุดที่น่าสนใจคือตัวหมุดคณะราษฎรที่เดิมทีผู้คนทั่วไปไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองเพราะถูกทำให้หายไปจนถูกนำมาจำลองและผลิตซ้ำจนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอันใหม่นั่นเอง
สุดท้ายนี้เราก็หวังว่ารีวิวหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บุคคลทั่วไปเริ่มสนใจในสถาปัตยกรรมไทยยุคหนึ่งซึ่งไม่ได้รับสป็อตไลท์เท่าที่ควร และผู้ที่มีความสนใจอยู่แล้วได้ตัดสินใจเลือกหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้ง่ายขึ้น และขอขอบคุณอ.ชาตรีที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ทำให้เราได้เข้าใจสถาปัตยกรรมไทยในช่วงเวลาที่ถูกลืมและเปิดมุมมองต่อประวัติศาสตร์ไทยในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นได้เป็นอย่างดี
Comments