top of page
Writer's pictureprai wong

รู้หรือไม่ ? #คนกรุงเทพ เกินครึ่งไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง



ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีจำนวนเกือบ 11 ล้านคน แต่มีผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงตามเกณฑ์เลือกตั้งไม่ถึงครึ่ง



| ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน กทม. 2565 มีเพียง 4.5 ล้านคน

ในปี 2565 พบว่ามีประชากรเพียง 4.5 ล้านคนใน กทม. ที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง โดยต้องมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ดังนี้

1. มีสัญชาติไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปี

2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ในวันเลือกตั้ง)

3. มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 1 ปี

4. คุณสมบัติอื่น ๆ ตามแต่องค์การปกครองท้องถิ่นกำหนด



| แม้จะมีผู้อาศัยอยู่ใน กทม. เกือบ 11 ล้านคน …แต่ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งกลับมีไม่ถึงครึ่ง

จากการคาดการณ์ พบว่าประชากรที่อยู่อาศัยภายใน กทม. มีจำนวนกว่า 10.7 - 10.9 ล้านคน ซึ่งจากจำนวนนี้มีประชากรมากถึง 6 ล้านคนหรือมากกว่า 50% ที่ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง กทม. ในปีนี้



| 6 ล้านคนที่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง กทม. นั้น คือใครกันบ้าง ?

- กลุ่มประชากรแฝงกลางคืน (Night time Hidden Population) กว่า 2.35 ล้านคน


- กลุ่มแรงงานต่างชาติตามทะเบียนของกระทรวงแรงงานใน กทม. จำนวน 545,444 คน


- กลุ่มประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 835,990 คน


- กลุ่มประชากรที่มีชื่อตามทะเบียนบ้าน แต่ไม่ใช่สัญชาติไทย จำนวน 49,543 คน


- กลุ่มประชากรที่ไม่สามารถแจกแจงได้อย่างแน่ชัด เช่น แรงงานต่างชาตินอกระบบที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เป็นต้น จำนวนกว่า 2 ล้านคน



| แนวทางการกระจายสิทธิ์การเลือกตั้งให้ #คนกรุงเทพ อย่างทั่วถึง


1. กระบวนการย้ายเข้า-ออกทะเบียนบ้านที่สะดวก และเหมาะสม


มีกระบวนการย้ายเข้า-ออกทะเบียนบ้านที่เข้าถึงได้อย่างสะดวก สอดรับกับรูปแบบ และข้อจำกัดของประเภทที่อยู่อาศัยที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หอพัก ห้องเช่า ฯลฯ ก็ควรมีขั้นตอนการยื่นขอโยกย้ายที่สะดวกและรวดเร็ว


เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกตั้ง กทม. แล้ว ยังเป็นการช่วยให้การกำหนดนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการเมืองแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

.


2. ชาวต่างชาติใน กทม. ควรมีได้สิทธิ์เลือกตั้ง

เพราะพลเมืองที่อาศัยอยู่ใน กทม. แต่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย มีอยู่จำนวนมาก และอาจจะมากยิ่งขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราควรที่จะให้ความสำคัญต่อเสียงพลเมืองในกลุ่มนี้ ผ่านการให้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้รูปแบบการตั้งมาตรฐานตามจำนวนปีที่อยู่อาศัย เป็นต้น

.


3. ลดเกณฑ์อายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ในปัจจุบัน เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ได้ให้ความสนใจและตื่นตัวทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เพราะการเมืองไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความที่เป็นอยู่ของพลเมืองทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ดังนั้นเราควรที่จะให้สิทธิ์และเสียงแก่กลุ่มพลเมืองที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในการเลือกตั้ง และให้เขาได้มีโอกาสในการออกแบบอนาคตของตนเอง

.


ข้อเสนอข้างต้นนี้ เป็นแนวทางเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ซึ่งควรต้องมีการแก้ไขในระดับ พระราชบัญญัติ เพื่อแก้ไขระเบียบการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (อบจ. อบต. พัทยา ฯลฯ) ทั้งหมด


โดยเริ่มจากการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงผลักดันสังคมและเศรษฐกิจเมืองหลักต่าง ๆ ให้มีศักยภาพทัดเทียมระดับสากล เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น



コメント


bottom of page