top of page
Writer's pictureprai wong

Recap เสวนาในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เสวนา Session หลังในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นงานเสวนาที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าให้แรงบันดาลใจมาก ๆ อยากชวนทุกคนมาอ่าน Recap ที่เราได้สรุปให้ฟังด้านล่างนี้ค่ะ



เริ่มจาก ผศ. ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรืออ.ยุ้ย ได้เล่าถึงเรื่องราวของถนนพระอาทิตย์ในมุมมองของงานวิชาการผสมผสานไปกับประสบการณ์ส่วนตัว อ.ยุ้ยเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ต่างกันไป โดยเริ่มมาจากร้านหนังสือนักเดินทางที่เป็นรุ่นบุกเบิกในการนำพาผู้คนกลุ่มใหม่ ๆ มาใช้พื้นที่แห่งนี้ หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยคาเฟ่ และร้านนั่งชิลอีกมากมาย ถนนพระอาทิตย์เป็นตัวอย่างของการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของคนในพื้นที่ยุคเก่าสู่ชนชั้นกลางในยุคปัจจุบันจาก Gentrification ได้เป็นอย่างดี



ถัดมาคือคุณ อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ หรือพี่แอน สถาปนิกจาก สถาบันอาศรมศิลป์ - Arsom Silp Institute of the Arts เล่าให้เราฟังในเรื่อง ชุมชนบ้านครัว: กระบวนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่นำไปสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน ชุมชนบ้านครัวอาจจะไม่ได้มีมรดกทางกายภาพหลงเหลืออยู่มานักเพราะบ้านไม้สวย ๆ ถูกไฟไหม้ไปเกือบหมด แต่มรดกทางใจที่จับต้องไม่ได้นั้นล้นเหลือ คุณอิสริยาเริ่มใกล้ชิดกับชุมชนบ้านครัวจากเด็ก ๆ โดยกิจกรรมที่ทำหลังจากนั้นก็ได้รับความร่วมมือจากผู้สูงอายุมากขึ้นตามลำดับ ชุมชนบ้านครัวเป็นชุมชนที่มีอยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากนั้นถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยถนนบรรทัดทองและคลองแสนแสบ ทางอาศรมศิลป์ร่วมศึกษากับชุมชนจนพบว่าจุดตัดใต้สะพานที่เป็นทางเชื่อมของชุมชนจะลดการแบ่งแยกระหว่างชุมชนแต่ละส่วนได้ดีขึ้น หากพื้นที่ได้รับการจัดการให้น่าใช้ ทางอาศรมศิลป์และชาวบ้านจึงร่วมมือกันออกแบบและลงมือทาสีโดยคนในชุมชนเอง กระบวนการจัดการพื้นที่ทั้งหมดเสร็จเพียงในไม่กี่วัน แถมระหว่างนั้นยังมีวงดนตรีของชุมชนมาสร้างความสนุกสนานให้ทีมที่ลงแรงกันด้วย เมื่อจบงานก็เป็นความภาคภูมิใจของชุมชนที่มีทางเชื่อมใต้สะพานน่าใช้ สวยงาม และยังบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนบ้านครัวอีกด้วย



ธนบุรี มี คลอง โดยพี่คุ้ง ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ สถาปนิกอีกท่านจากอาศรมศิลป์ มาเล่าให้พวกเราฟังว่าคลองที่เขาเคยคิดไว้ กับคลองในความเป็นจริงต่างกันอย่างไร พี่คุ้งได้เล่าเรื่องราวของการนั่งเรือกับเพื่อนสำรวจคลอง ได้พบจุดที่สวย ๆ น่าตื่นตามากมาย เมื่อพบว่าคลองไม่ได้เป็นท่อระบายน้ำอย่างที่หลาย ๆ มีภาพจำ พี่คุ้งจึงเริ่มโครงการ Mapping คลอง ติดกล้องตอนนั่งเรือถ่ายรูป 360 องศา เพื่อมาเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องคลอง นอกจากนี้ในเพจ ธนบุรี มี คลอง ยังมีบทสัมภาษณ์และเรื่องราวที่น่าสนใจของผู้คนที่ใช้ชีวิตริมคลองตั้งแต่สมัยที่คลองยังเป็นหน้าบ้านของพวกเขาอีกด้วย



เรื่องถัดมานี้ค่อนข้างหนักหน่วงใจ ดร. ศศิกาญจน์ ศรีโสภณ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับ (คนไร้)บ้านและกระบวนการออกแบบเพื่อการฟื้นฟูและส่งเสริมศักยภาพ เป็นเรื่องราวของดร. ศศิกาญจน์ และคนไร้บ้านที่มีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบที่อยู่อาศัยชั่วคราวของมูลนิธิ พวกเขาไปเจอที่ดินผืนหนึ่ง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจนได้รู้จักคนไร้บ้านหลาย ๆ คน และแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง ไปจนถึงขั้นตอนการสร้างที่คนไร้บ้านหลายคนก็มีฝีมือ ร่วมด้วยช่วยกันทำงานช่าง



เรื่องสุดท้ายจากคุณ เมฆ สายะเสวี จาก CROSSs ในหัวข้อ ความท้าทายในงานออกแบบชุมชนเมืองในโครงการ ยังธน พี่เมฆได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการที่ได้ไปเจอพื้นที่ลับที่ชาวบ้านเตะบอลกันตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ ไล่ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายผู้คนต่างวัยที่มีความสนใจในการเตะฟุตบอล เรื่องราวมีสีสันจากเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ พี่เมฆสรุปให้ว่าถ้าเราแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็หาคนที่มีปัญหาแบบเดียวกับเรามาร่วมแก้ด้วยกัน

.

พวกเราจบการเสวนาด้วยคำถามที่ว่าเหล่าสถาปนิกที่ทำงานร่วมกับชุมชนผ่านเรื่องราวยากลำบากมาได้อย่างไร แต่ละคนก็มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจต่างกัน แต่ส่วนมากล้วนได้พบกับเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน USL และผู้เข้าร่วมเสวนาล้วนจบวันไปด้วยความอิ่มเอมจากแรงบันดาลใจที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรื่องราวของผู้พูดทุกคน

3 views0 comments

Comments


bottom of page