top of page

Recap เสวนา หาบเร่แผงลอยบนทางเท้า

หลาย ๆ คนอาจจะมองเรื่องหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าเป็นเรื่องของทัศนียภาพความสวยงามของเมืองเท่านั้น แต่เสวนาในวันนี้ได้เปิดมุมมองของผู้ฟังถึงเรื่องราวในมิติต่าง ๆ ของทางเท้าและหาบเร่แผงลอย จาก รศ. ดร. นฤมล นิราทร และคุณเรวัตร ชอบธรรมมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องทางเท้าและแผงลอยจากมุมมองของนักวิชาการและ ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน น่าเสียดายที่คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ไม่ได้มาร่วมเสวนากับพวกเราด้วย แต่พี่เก่ง หรือคุณ กฤษณะพล วัฒนวันยู ได้ช่วยเล่าการแก้ปัญหาเชิงออกแบบกับแผงลอยบนทางเท้าให้เราฟังคร่าว ๆ แทน



ได้ รศ. ดร. นฤมล นิราทร จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เล่าในมุมมองวิชาการถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของแผงลอยและทางเท้า เริ่มตั้งแต่ความั่นคงทางอาหาร (Food Security) อุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) การจัดระเบียบของกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงผลกระทบต่อคนในสังคม และสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญกันจริง ๆ กับประเด็นอาหารจากทางเท้า

ความมั่นคงทางอาหารอาจเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากมองข้ามไป ราคาอาหารจากทางเท้าเป็นราคาที่คนเข้าถึงได้มากที่สุด จึงเป็นสาเหตุที่มีความต้องการจากตลาดมาก แม่บ้านสามารถมาซื้อสำเร็จได้ง่าย ประหยัดเวลาและซื้อของในราคาถูกได้ในจำนวนน้อย เหมาะกับผู้ที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางแต่ทำงานอยู่ในย่านที่ค่าครองชีพสูง จึงเป็นข้อสังเกตว่าหากหาบเร่แผงลอยหายไปจากกรุงเทพมหานคร ผู้ที่มีความต้องการซื้ออาหารกลุ่มดังกล่าวจะอยู่อย่างไร สถิติจากรศ. ดร. นฤมล นิราทร ก็ได้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่พึ่งพาร้านสะดวกซื้อ ชาวกรุงเทพมหานครพึ่งพาหาบเร่แผงลอยมากกว่าที่เราคิด


การจัดการด้านพื้นที่และข้อกฎหมายจึงเป็นทางออกที่ดีกว่าลบหาบเร่แผงลอยออกไปจากทางเท้า ทางทางรัฐสามารถสร้างข้อกำหนดที่สมเหตุสมผลทั้งด้านการใช้งานพื้นที่และจัดการเก็บค่าเช่าอย่างเป็นระบบ ปัญหาทางเท้าที่สร้างปัญหาให้คนเดินในเมืองจะเบาบางลง และยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับการเดินเมืองกรุงเทพมหานครต่อคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวอีกด้วย



คุณเรวัตร ชอบธรรม ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เล่าให้พวกเราฟังถึงมุมมองของคนที่ประกอบอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอย พวกเขาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง เป็นคนกลุ่มแรกที่โดนไล่ที่จากย่านต่าง ๆ คนหลายกลุ่มประสบปัญหาธุรกิจขาดทุน สืบเนื่องเป็นปัญหาครอบครัว บางคนอาจถึงแก่ชีวิตเพราะหมดทางเลือกในการแก้ปัญหา ทั้งหมดเริ่มต้นจากการขาดพื้นที่ค้าขาย คุณเรวัตเล่าให้ฟังว่าคนเมืองก็ขาดพวกเขาไม่ได้ ถ้าเขาไม่ขาย ผู้ประกอบอาชีพมีรายได้ต่ำในย่านที่ค่าครองชีพสูงจะทานอาหารตอนพักเที่ยงอย่างไร พวกเขาพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกัน


กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอยยังเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย ไม่ใช่อาหารทุกชนิดจะหาได้จากร้านอาหารราคาเกินร้อยบาทในห้องแอร์ แต่อาหารหลายอย่างขายอยู่แค่บางย่าน และมีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ขาย ซึ่งส่วนมากล้วนเป็นผู้ที่ขายหาบเร่แผงลอย เมื่อเกิดการไล่ที่ขึ้น ผู้ค้าหลายคนจึงล้มเลิกและเปลี่ยนไปประกอบอาชีพแบบอื่น อาหารหลายชนิดก็หายไปจากสังคมไทย ผู้เขียนก็ได้แต่นั่งถอนหายใจตอนฟังเพราะไม่เคยทานเช่นกัน


เนื่องจากคุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ไม่สามารถมาร่วมเสวนากับเราได้ พี่เก่งจึงได้ถ่ายทอดแนวคิดการออกแบบร้านค้าหาบเร่แผงลอยเป็นตัวอย่างให้กับพวกเรา การออกแบบมีส่วนสำคัญในการจัดการพื้นที่ขนาดเล็กให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ปัญหาทางเท้ามีทางออกมากมายหากพวกเราร่วมมือกันจัดการกับมัน

งานเสวนาหัวข้อนี้จบลงด้วยการถกปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่แก้ปัญหาที่ไม่ได้รับการสานต่อจนจบ นโยบายหลายอย่างขาดตอนและไม่ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน ชาวกรุงเทพมหานครไม่ว่าจะทั้งผู้ขายหรือผู้ซื้อบนทางเท้าล้วนเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหานี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่สามารถแก้จากล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ได้เพียงอย่างเดียว ยังต้องพึ่งพารัฐในการแก้ปัญหาจากบนลงล่าง (Top-Down) ข้อกำหนดและกฎหมายต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะมองปัญหาหาบเร่แผงลอยเป็นมากกว่าการจัดการทัศนียภาพและแก้ไขก่อนที่จะสร้างผลกระทบมากไปกว่าที่เป็นอยู่


1 view0 comments
bottom of page