ในตอนที่สองของซีรีส์บทความ Smart Cities and Privatisation นี้ เกี่ยวกับ “บริษัทพัฒนาเมือง” โมเดลของผู้นำการพัฒนาเมืองในรูปแบบการแปรรูปกลุ่มทุนเป็นบริษัทเอกชนแบบวิสาหากิจเพื่อสังคม รูปแบบบริษัทพัฒนาเมืองนั้นแสดงให้เห็นถึงความต่างของการแปรรูปองค์กรและทรัพยากรของรัฐไปอยู่ในการครอบครองของเอกชน ซึ่งบริษัทพัฒนาเมืองนั้นได้รับการยอมรับ ยกย่องให้เป็นรูปแบบพัฒนาเมืองสำหรับยุคสมัยจากภาคเอกชน ประชาชนและรัฐเอง
(Link to English article below)
––– What is City Development Corporation?
บริษัทพัฒนาเมือง เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มทุนท้องถิ่น เช่น สภาหอการค้าจังหวัด โดยบริษัทพัฒนาเมืองทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐในการพัฒนาเมือง โดยถึงปัจจุบันมีบริษัทพัฒนาเมืองถึง 13 บริษัทโดยแต่ละบริษัทเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดซึ่งพื้นที่พัฒนานั้นมักจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเมืองหรือศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ขององค์กรท้องถิ่นจากภาครัฐ รวมถึงระบบการจัดการแบบรวมเข้าที่ศูนย์กลาง การแจกจ่ายงบประมาณที่ไม่เท่าเทียม และตัวบทกฎหมายที่สร้างข้อจำกัดในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ทำให้บทบาทของภาครัฐท้องถิ่นในการพัฒนาเมืองนั้นทำได้ยากมากถึงมากที่สุด เพราะขาดซึ่งทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จและเงินลงทุน ทั้งนี้เลยทำให้บริษัทพัฒนาเมืองเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองต่างๆ ทั้งสร้างความร่วมมือและรวบรวมการลงทุน
บริษัทพัฒนาเมืองนั้นถือกำเนิดโดยไม่ได้ข้องเกี่ยวกับความเป็นเมืองอัจฉริยะโดยตรงอย่างทันทีทันใด แต่ในปี 2017 หลังจากการเกิดขึ้นของบริษัทพัฒนาเมืองสองสามแห่งแรกนั้น ยุทธศาสตร์ขาติ 20 ปี และ Economic model Thailand 4.0 ได้นำมาซึ่งการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะขนานใหญ่ ผ่านทางกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเมือง 100 แห่งให้เป็นเมืองอัจฉริยะภายในปี 2022 เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจุกตัวสู่เมืองใหญ่
บริษัทพัฒนาเมือง เริ่มแรกเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น คือ บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ Khon Kaen Think Tank (KKTT) จัดตั้งโดยกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใหญ่ 20 รายด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทในปี 2013 KKTT เป็นตัวตั้งตัวตีในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะด้านคมนาคม พลังงาน และเศรษฐกิจ โครงการอย่างขอนแก่นสมาร์ทบัส หรือการสรรหาและจัดสรรทุนในการพัฒนา รถไฟฟ้ารางเบาของขอนแก่น ระบบขนส่งมวลชนรางในระดับเมือง แห่งแรกนอกเขตกรุงเทพมหานคร รูปแบบการจัดการและพัฒนาของ ขอนแก่นพัฒนาเมืองนั้น ได้รับความนิยมอย่างสูงจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (DEPA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และอื่นๆ โดยเป็นรูปแบบผู้นำการพัฒนาที่ถูกจังหวัดอย่าง ภูเก็ต และเชียงใหม่นำไปใช้ในภายหลัง
––– Bangkok CDC, Chonburi, and others
อย่างไรก็ตาม บริษัทพัฒนาเมือง ไม่ใช่การพัฒนาเมืองเพียงรูปแบบเดียว ยังมีเมืองต่างๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนจากรัฐบาลกลางเช่นโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค หรือระหว่างเมืองอย่างเช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก EEC ซึ่งจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรานั้นใช้การลงทุนรูปแบบทั่วไปซึ่งภาครัฐเป็นตัวกลาง ระหว่าง รัฐ เอกชน และภาคประชาชน
ในขณะที่เขตการปกครองพิเศษอย่างกรุงเทพนั้น ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทพัฒนาเมืองแต่บริษัทพัฒนาเมืองกรุงเทพเองไม่ได้มีบทบาทเด่นชัดเมื่อเทียบกับบริษัทพัฒนาเมืองของจังหวัดอื่นๆ โดยเป็นผลจากพื้นที่เขตการปกครองพิเศษกรุงเทพมหานครมีความสามารถในการจัดการขององค์กรส่วนท้องถิ่นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ รวมถึงการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเต็มไปด้วยกลุ่มทุน ธุรกิจ สถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ มากมายซึ่งมีความสามารถในการพัฒนาพื้นที่เชิงล้อมรั้วกึ่งปิด (Gated-Community) รวมถึงการสร้างภาคีความร่วมมือต่างๆ ระหว่างองค์กรรัฐในทุกระดับกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชนโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่าง บริษัทพัฒนาเมือง
ถึงกระนั้นบริษัทพัฒนาเมืองก็ไม่เชิงเป็นรูปแบบการพัฒนาของกลุ่มทุนท้องถิ่นเอกชนแบบแรกแต่อย่างใด หลายๆ เมือง หลายๆ จังหวัดในประเทศไทยนั้น กลุ่มทุนเอกชนหรือตัวบุคคลนั้นมีอิทธิพลต่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างสูง โดยเฉพาะกลุ่มหรือบุคคลที่มีความข้องเกี่ยวกับการเมืองระดับภูมิภาคหรือระดับชาติ อย่างเช่น คุณเนวิน ชิดชอบ ผู้พลิกโฉมเมืองบุรีรัมย์เป็นเมืองท่องเที่ยวเกิดใหม่ โดยมีศูนย์กลางการพัฒนาที่อาณาจักรกีฬาฟุตบอลและความเร็ว นอกจากนี้ยังมีเมืองอย่างสุพรรณบุรีกับครอบครัวศิลปอาชา หรือจังหวัดสมุทรปราการกับครอบครัวอัศวเหม แต่ในรูปแบบกลุ่มทุนบุคคลท้องถิ่นนั้น มีความลอยตัว ไร้รูปแบบ เกิดขึ้นจากการผสานอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ากับโครงสร้างการปกครอง มากกว่ารูปแบบบริษัทพัฒนาเมืองซึ่งมีความเป็นองค์กรที่มีความเป็นทางการและกรอบการปฏิบัติสูง
––– Offset
ความเป็นองค์กรเอกชนในรูปแบบวิสาหกิจสังคมของบริษัทพัฒนาเมืองนั้นสร้างความคล่องตัว และอำนาจการจัดการที่มีความเบ็ดเสร็จกว่าในการพัฒนาเมือง แต่รูปแบบการคานอำนาจระหว่างภาคเอกชน รัฐ และประชาชนยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ ถึงแม้ว่าบริษัทพัฒนาเมืองหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะขอนแก่นพัฒนาเมืองนั้นที่มุ่งมั่นในการผนวกการมีส่วนร่วมเข้าไป แต่ไม่เพียงพอต่อการสร้างการมีส่วนร่วมหรือสร้างเมืองอัจฉริยะที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนโดยองค์รวมผ่านรูปแบบการพัฒนานี้ ซึ่งเพียงแต่ย้ำให้เกิดการจัดทำแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีการยกเว้นสำหรับบางพื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แสดงชัดเจนว่าระบบการคัดคานอำนาจนั้นไม่ครอบคลุมเพียงพอ เมื่อเทียบกับความเบ็ดเสร็จและคล่องตัวของรูปแบบองค์กรเอกชน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงรูปแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่พ่วงมากับการเข้าถึงและจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว ถึงแม้ว่า ณ ขณะนี้จะมีโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยตรงที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวไม่มากนัก แต่ประเด็นนี้จะมีความสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและความมั่นคงของท้องถิ่นในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าสาเหตุมาจากการที่โครงการได้ยอมรับต่างๆ การขาดซึ่งโครงการที่เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล การขาดซึ่งความตื่นรู้ด้านดิจิตอล หรือขาดแรงต่อต้านที่เป็นรูปเป็นร่างมากพอ
––– Land Grabbing
สิ่งที่การพัฒนาจากรูปแบบการพัฒนาเมืองนำมาด้วยนั่นคือ gentrification (การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของทุนโดยเฉพาะที่มุ่งเน้นไปเพื่อกลุ่มชนชั้นกลางและสูงเป็นหลัก) เกือบจะไม่มีความเป็นไปได้เลยที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียวจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับผู้ร่วมลงทุนในบริษัทพัฒนาเมือง ในขณะที่การพัฒนามุ่งเน้นถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนแบบองค์รวม ในทางกลับกันกลุ่มทุนทั้งท้องถิ่น และระดับชาติได้ทำการเข้าถือครองทรัพย์สินโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และที่ดินโดยรอบโครงการพัฒนาต่างๆ ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่นซึ่งส่งผลถึงราคาที่ดินพุ่งขึ้นสูงสองเท่า รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าถือครองที่ดินเพื่อทำโครงการต่างๆ โดยเฉพาะหุ้นส่วนหนึ่งของ ขอนแก่นพัฒนาเมืองซึ่งได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ย่านการคมนาคมรางหลักกลางเมืองไปในระยะยาว
––– Lesson Learned - Part II - Being Smart and Privacy Rights
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบริษัทพัฒนาเมืองนั้นมีบทบาทอย่างสูงต่อการพัฒนาเมืองในประเทศไทย บริษัทพัฒนาเมืองเติบโตมาจากความต้องการในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและกระจายการพัฒนาออกจากกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ตัวรูปแบบบริษัทพัฒนาเมืองนั้นแสดงศักยภาพให้เห็นถึงการเป็นผู้เล่นหลักในการพัฒนาเมือง มีบริษัทพัฒนาเมืองเพียงหยิบมือที่เกิดขึ้นและสามารถแสดงศักยภาพของรูปแบบองค์กรออกมาได้อย่างเด่นชัด เช่นเชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ในขณะที่เมืองอื่นๆ อีกนับสิบเมืองกำลังอยู่ในขั้นตั้งต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทพัฒนาเมือง ไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวในการพัฒนา แต่ยังต้องสำรวจความพร้อม ความต้องการของเมืองต่อการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะการพัฒนาในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ
ในขณะที่บริษัทพัฒนาเมืองนั้นถูกเรียกขานเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งโดยความหมายของคำว่า เมืองอัจฉริยะนั้นคือ การเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นหมายถึงการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงผนวกกับการพัฒนาเมืองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการและให้บริการประชาชน มุ่งหมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริษัทพัฒนาเมืองเองไม่ได้มีศักยภาพในนัยยะของความอัจฉริยะนี้แต่อย่างใด แต่บริษัทพัฒนาเมืองนั้นเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาทางกฎหมาย การปกครองและการเงินต่อการพัฒนาเมืองมากกว่า ความอัจฉริยะของเมืองไม่ได้แปรผันตรงกับการมีอยู่ของบริษัทพัฒนาเมือง หากแต่เป็นโครงการต่างๆ ที่ลงทุนและประยุกต์ใช้เสียมากกว่า ซึ่งเป้าหมายในการมี 100 เมืองอัจฉริยะในประเทศไทยภายในปี 2022 นั้นยังดูห่างไกลอยู่มาก
รูปแบบของบริษัทพัฒนาเมืองซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มทุนเอกชนท้องถิ่นนั้น เป็นรูปแบบที่มองแสดงการแก้ปัญหาแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) ชัดเจนว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้นไม่ใช่ประโยชน์ให้เปล่าแต่เป็นการเพิ่มขีดความจำกัดในเพิ่มผลิตผลจากทรัพย์สินต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ ของนายทุน (หรือทรัพย์สินในอนาคต) ซึ่งชัดเจนผ่านการที่พื้นที่ขนาดใหญ่ๆ รอบแนวการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยมีทุนใหญ่ๆ เข้าถือครอง อย่างไรก็ตามแต่ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะเกิดกับการพัฒนาด้วยรูปแบบอื่นนอกเหนือจากบริษัทพัฒนาเมือง โดยเฉพาะการพัฒนาที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ซึ่งข้อจำกัดด้านทุน รูปแบบการพัฒนาผ่านบริษัทพัฒนาเมืองดูจะเป็นเพียงความเป็นไปได้ไม่กี่ทาง
สำหรับรูปแบบบริษัทพัฒนาเมืองนั้น ด้วยความเป็นองค์กรเอกชนอาจจะทำให้การรับฟังและมีส่วนร่วมของประชาชนนอกเหนือจากที่ถูกออกแบบไว้นั้นมีความยากที่จะเข้าถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติของการเข้าถึงจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ซึ่งเมืองอย่างขอนแก่น ระยอง เชียงใหม่ หรือภูเก็ตเริ่มมีการริเริ่มโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านี้เช่น แอพพลิเคชั่นต่างๆ การตรวจจับผ่านระบบวงจรปิด หรือเซ็นเซอร์ การจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ถูกครอบคลุมอย่างหลวมๆ โดยกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งยังไม่ครอบคลุมชัดเจนถึงมิติของการจัดเก็บที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างมิติกายภาพและมิติเสมือน ยิ่งไปกว่านั้นที่กฎหมายยังมีช่องว่างสำหรับการจัดเก็บโดยรัฐ หรือ ในรูปแบบของการศึกษาซึ่งสามารถกระทำได้ผ่านเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ที่ บริษัทพัฒนาเมืองนั้นมีความเกี่ยวเนื่องอยู่ โดยที่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงมาก และความตื่นเต้นต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้กลบข้อกังวลต่างๆ ไปเสียหมด
––– Lesson Learned - Smart Cities and Privatisation
จากบทความสองตอน Smart Cities and Privatisation ในกรณีศึกษาอย่างโครงการย่านริมน้ำโตรอนโตของ Sidewalk Labs กับบริษัทพัฒนาเมืองของไทยนั้นได้แสดงให้เห็นถึงข้อดี ข้อด้อยและความสุ่มเสี่ยงต่อการแปรรูปองค์กรและทรัพยากรในการพัฒนาเมืองเป็นรูปแบบเอกชนโดยเฉพาะกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จริงอยู่ว่าทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นถึงความต่างอย่างมากในมิติของความอัจฉริยะของเมือง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนที่เหมือนกันของการพัฒนาเมืองในมิติด้านข้อมูล ซึ่งเป็นทั้งทรัพยากรที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการจัดการเมืองอย่างมาก แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชนอย่างสูงเช่นกัน
ในขณะที่ศักยภาพการดำเนินการในรูปแบบองค์กรเอกชนแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการพัฒนาเมืองที่มากกว่าเพียงการแสวงหากำไรแต่ทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นถึงความสุ่มเสี่ยงหรือข้อเสียข้อใหญ่คือการที่เสียงของประชาชนจะถูกละเลยออกไปจากการพัฒนาไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จากกรณี Sidewalk Labs ที่ไม่ได้มีการคำนึงถึงเลย หรือบริษัทพัฒนาเมืองที่ข้อกำหนดแนวทางต่างๆ มีไว้เพียงหลวมๆ และไม่เพียงพอต่อการสร้างการมีส่วนร่วมในแนวทางการพัฒนาหรือเท่าทันต่อมิติที่ซ่อนอยู่ด้านข้อมูลส่วนตัวในการจัดการและให้บริการของเมือง
ถึงแม้ว่าเมืองอัจฉริยะอาจจะดูเหมือนยังไม่มีความจำเป็น และเป็นเพียงลูกเล่นไฮเทค ต่อการพัฒนามากเท่ากับการยกระดับการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมเสียก่อน แต่เทคโนโลยีขั้นสูงก็ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ความปลอดภัยและบริการได้อย่างมาก มันก็นำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงต่อเสรีภาพ ความปลอดภัยของประชาชนเช่นกัน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้ด้วยองค์กรรัฐ เอกชน หรือประชาชนก็ตามแต่ การแปรรูปหรือยกสิทธิการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้กับองค์กรเอกชนนั้นเผยให้เห็นถึงประเด็นการสูญเสียทรัพย์สินและสิทธิการจัดการซึ่งควรจะเป็นสาธารณะและขึ้นกับประชาชน หรือองค์กรรัฐซึงเป็นตัวแทนประชาชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากขาดการร่วมมือของภาคเอกชนแล้วนั้นการพัฒนาเหล่านี้ ยากที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังยุคสงครามโลกโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาที่มีทุนทรัพย์ไม่พอซึ่งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ
การสร้างเมืองอัจฉริยะนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ยังเกี่ยวกับการสร้างกรอบจริยธรรมของการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นที่ชัดเจน ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการสร้างความตื่นรู้และสร้างสังคมที่เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างอิสระระหว่างกลุ่ม องค์กรและสถาบันต่างๆ การแปรรูปเป็นองค์กรเอกชนอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียอำนาจของตัวแทนประชาชนอย่างภาครัฐ แต่ประชาชนนั้นยังพึงมีสิทธิในฐานะประชาชนของเมืองอยู่ การใช้ประโยชน์จากความอัจฉริยะของเมืองในการเพิ่มความมีส่วนร่วม การเข้าถึงทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน แล้ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมือง จะนำมาซึ่งเมืองซึ่งอัจฉริยะสำหรับทุกคน
บทความโดย Jirapatr Jitwattanasilp
–––
Link to English article: https://bit.ly/2Zx35MS
Link to article part I: https://www.facebook.com/UrbanStudiesLab/posts/1155166128191245
––– References:
Sassen, 2014 - Expulsion
Wachiravit Kongkarai, 2017 - 101 World - “‘ขอนแก่นโมเดล’ พัฒนาเมืองด้วยพลังคนเมือง : คุยกับ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย - https://www.the101.world/suradech-interview/
Techsauce Team, 2020 - Techsauce - มิตรผล-เบญจจินดา-บ้านปู ร่วมลงทุน “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน https://techsauce.co/.../mitrphol-benchachinda-banpu...
Khonkaen Think Tank, 2020 - https://www.khonkaenthinktank.com/profile.php
Komsan Tortermvasana, 2019 - Bangkok Post - Smart city scheme tempts 20 candidates
Manager Online, 2018 - “จงดีแทร็กเตอร์” คว้าสัมปทานที่ดินไข่แดงย่านรถไฟขอนแก่น ทุ่ม 600 ล้านผุดตลาดสดสุดโมเดิร์นในอีสาน https://mgronline.com/local/detail/9620000109420
REIC, 2018 - Real Estate Information Center - ขอนแก่น ที่ดินพุ่งเท่าตัว https://www.reic.or.th/News/RealEstate/438886
Comentários