วันที่ 16 ตุลาคม หรือวันอาหารโลก
ปัจจุบันปัญหาขยะอาหาร (Food waste) นั้นเป็นประเด็นที่ทั้งโลกกำลังตระหนักถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่เราบริโภคนั้น ถูกทิ้งเป็นขยะอาหารทั้งที่เรายังสามารถกินได้* ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน การลดปริมาณขยะจากอาหารนั้น เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโลกที่ทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ปัญหา และเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ;SDGs)
เมื่อมองลึกลงไปถึงขยะอาหารที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้วเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นขยะที่เหลือจากการบริโภคแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี และอีกส่วนที่ผู้คนอาจจะมองข้ามไปในบางครั้ง “อาหารส่วนเกิน (Surplus Food)” คืออาหารที่เกินจากความต้องการในการบริโภคของพวกเรา และยังสามารถบริโภคได้ เพียงแต่เราเลือกที่จะทิ้งมันไป เช่น ผลผลิตที่มีหน้าตาไม่สวยงาม วัตถุดิบที่ตัดแต่งนำไปใช้บางส่วน เป็นต้น หากเราสามารถที่จะนำอาหารส่วนเกินนี้มาบริโภคได้ เราจะสามารถช่วยกันลดขยะจากอาหารได้
มูลนิธิรักษ์อาหาร (Scholars of Sustenance Thailand) เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการจัดการอาหารส่วนเกินในเมือง โดยได้ร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน ทั้งเอกชน ห้างร้าน ภาครัฐ โดยมูลนิธิมีกระบวนการ Food rescue รับบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังคุณภาพดีจากที่ต่าง ๆ ทั้งภัตตาคาร ร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อนำมาแจกจ่ายแก่ผู้ที่ต้องการแต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ตามชุมชน จัดตั้งโครงการ “ครัวรักษ์อาหาร” โดยผู้คนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันนำวัตถุดิบจากอาหารส่วนเกินที่ได้มารังสรรค์เป็นมื้ออาหารมื้อใหญ่ ที่สามารถอิ่ม อร่อย สะอาด ถูกหลักโภชนาการ กันได้ทั้งชุมชน ถือเป็นโครงการปรุงโดยชุมชนเพื่อคนในชุมชน
จนถึงปัจจุบันนี้ มูลนิธิได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 2 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น 8.7 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ 426 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 3.9 ล้านกิโลกรัม
มูลนิธิยังเปิดรับอาสาสมัคร นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป ที่สนใจในเรื่องการจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินในเมือง สามารถเข้าร่วมกิจกรรมและโครงการดี ๆ จากทางมูลนิธิได้
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://th.scholarsofsustenance.org/sos-thailand
Comments