ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวัน ทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ วันที่ 3 กรกฎาคม 2021 เพียงวันเดียวมีผู้ติดเชื้อถึง 6,230 ราย ผู้เสียชีวิต 41 ราย และมีผู้ป่วยในระบบทั้งหมดประมาณ 60,000 ราย โดยผู้ติดเชื้อเกินกว่าครึ่งของทั้งประเทศ พบในพื้นที่เมือง อย่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ในขณะที่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสอยู่เพียง 2,862,598 คน หรือ 4.10% ของประชากร
โดยตลอดช่วงระยะเวลาการระบาดมากกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเจอกับวิกฤตการระบาดมาแล้วถึง 3 ระลอก ซึ่งในระลอกปัจจุบัน นับเป็นการระบาดครั้งที่รุนแรงที่สุด โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะเคยมีช่วงเวลาที่สามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป ซึ่งการเตรียมความพร้อม ในการรับมือและเผชิญกับวิกฤตดังกล่าว สะท้อนถึงความไม่เข้าใจของกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ต่อบริบทของกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนกันอย่างท่วนหน้า และนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เมือง ชุมชน และการอาศัยอยู่ร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการแพร่ระบาด หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีแพทย์และบุคคลากรทางด้านสาธารณสุข ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคเป็นผู้ได้รับผลกระทบสำคัญ ซึ่งการกลับมาระบาดของโรค COVID-19 ในระลอกที่สามนั้นได้ซ้ำเติมความเสียหายดังกล่าว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการระบาดนอกจากทรัพยากร โอกาสทางเศรษฐกิจ และยังส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากมาย รวมถึงการสูญเสียชีวิตของประชาชนนับพันคน
ความผิดพลาดไม่เพียงแต่เกิดขึ้นการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ต่างๆในเชิงการคาดการณ์ แต่ยังขาดการการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะระหว่างภาครัฐ ระหว่างศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างๆ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงข่ายองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงต่อการรับผิดชอบในการจัดการควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นความบกพร่องอย่างมหันต์ ในสถานการณ์ที่รัฐ ในฐานะผู้บริหารสถานการณ์นั้นควรจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงการเห็นประโยชน์และสวัสดิภาพของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
สิ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนถึงความบกพร่องต่อการจัดการสถานการณ์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ กระบวนการจัดหา และจัดสรรวัคซีนและเวชภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ตอบรับกับความไม่แน่นอนของโรค ประเภทวัคซีนขาดทั้งความหลากหลาย ปริมาณ และความเร็ว ความแน่นอนในการจัดสรรวัคซีน ซึ่งไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคให้ครอบคลุม และลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียง โดยความล้มเหลวดังกล่าวนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัววัคซีนที่รัฐจัดหาไว้ให้อีกด้วย (อ้างอิงจากผลการศึกษาร่วมในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์พบว่ากลุ่มคนผู้ที่ลังเลใจในการฉีดวัคซีนประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลายประเภท รวมถึงกลุ่มคนที่ตั้งข้อสงสัยต่อรัฐบาล นักวิจัย หรือแพทย์ ซึ่งมีสัดส่วนสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ)
ในสถานการณ์เฉพาะหน้าขณะนี้ ภาครัฐนั้นต้องเน้นย้ำและกระชับการทำงานอย่างบูรณาการ ประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับต่อสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่การระบาดให้สามารถเข้ารับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และสภาพความเป็นอยู่ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงช่วยในการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอและเพิ่มการเพิ่มศักยภาพในการรองรับ ลดผลกระทบและป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
1. การเพิ่มปริมาณการตรวจโรค เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด เช่น การส่งชุดตรวจด้วยตัวเองแบบต่างๆเพื่อลดภาระผู้ให้บริการสาธารณสุข รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการรับรู้ และป้องกันโรค
2. การเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วย ควบคุมกิจวัตรของผู้ป่วย เช่น เตียงสนาม อุปกรณ์ เวชภัณฑ์จำเป็นและมาตรการปฏิบัติตัวในการกักตัวที่บ้านของผู้ป่วยสีเขียว หรือพื้นที่รองรับผู้ป่วยสีเขียวที่มีข้อจำกัดในการกักตัวเอง ให้สามารถมีที่กักตัวที่ปลอดจากการแพร่เชื้อ
3. การเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอในการป้องกันและควบคุมการระบาด ความหลากหลายของวัคซีนที่สามารถรองรับความหลากหลาย และความมั่นใจของประชาชนได้
การเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หลากหลายประเภท สามารถตอบสนองต่อกายภาพที่หลากหลาย และความเชื่อใจ มั่นใจที่แตกต่างกัน นั้นมีผลอย่างยิ่งต่อการจัดการควบคุมการระบาดในระยะกลาง และระยะยาวอย่างยั่งยืน เพราะสามารถตอบสนองตอบสนองต่อความหลากหลายของประชากร ลดความแคลงใจ ของประชากรต่อวัคซีนที่จะได้รับอย่างมีตัวเลือก รวมถึงการจัดสรร กระจายวัคซีนควรให้บริการวัคซีนทุกประเภทเหล่านี้อย่างครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งสวนทางกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนในปัจจุบันอยู่มาก ที่การจัดหาวัคซีนผ่านหน่วยงานหลักของรัฐนั้นมีเพียงไม่กี่ประเภท การจัดสรร นัดจองมีความไม่แน่นอน ในขณะที่วัคซีนประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะวัคซีนกลุ่ม mRNA ที่ควรถูกจัดสรรควบคู่ให้แก่ประชากร กลายเป็นการถูกจัดกลุ่มให้เป็นวัคซีนทางเลือกที่สร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงสำหรับประชาชนกลุ่มใหญ่ ถึงกระนั้นการจัดหาวัคซีนทางเลือกเองยังติดข้อจำกัด กระบวนการทางกฎหมายอยู่มาก ประหนึ่งว่าส่วนงานของรัฐเองนั้นไม่ได้มีอำนาจพิเศษในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินตามประกาศพระราชกำหนดที่มีการใช้มามากกว่าหนึ่งปี
สุดท้ายนี้ Urban Studies Lab หวังที่จะเห็นการจัดการสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆอย่างเป็นระบบ โดยเห็นแก่ประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนประเภทต่างๆ เพื่อความเสมอภาค ให้สามารถร่วมมือกันฝ่าฟัน เอาชนะอุปสรรคโรคภัยที่เผชิญอยู่ไปด้วยกัน อย่างที่ได้มีการกล่าวกับประชาชนอยู่เสมอ
Comments