top of page
Writer's pictureprai wong

เมืองปรับตัว (เพราะ)โลกเปลี่ยนแปลง

US


ใครจะไปคิดว่า วันหนึ่งเราจะต้องทำงานจากที่บ้าน จะต้องนั่งเรียนหนังสือออนไลน์ หรือแม้กระทั่งจะไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้เหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก #ความไม่ยืดหยุ่น ของการออกแบบเมืองที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เมืองที่เคยคึกคักไปด้วยผู้คนและกิจกรรมมากมายต้องหยุดชะงักลง . กรุงเทพฯ ก็คล้ายกับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีรูปแบบการพัฒนาเมืองด้วยการจัดโซนนิ่ง ตามผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและลักษณะการใช้งาน ประกอบด้วยย่านที่พักอาศัย ย่านธุรกิจค้าขาย ย่านพักผ่อน และย่านอุตสาหกรรม แต่การมุ่งพัฒนาเมืองในลักษณะนี้ ส่งผลให้ชีวิตประจำวันและกิจกรรมของผู้คนในเมืองถูกแยกส่วนออกจากกันชัดเจนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เรามีบ้านพักอยู่ย่านราชพฤกษ์ มีที่ทำงานอยู่ย่านสาทร และมีร้านอาหารร้านโปรดอยู่ย่านทองหล่อได้ . และนี่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ #วิถีชีวิตในกรุงเทพฯ ต้องหยุดชะงักลง เมื่อมีคำสั่งล็อกดาวน์ให้จำกัดการเดินทางและต้องกักตัวอยู่บ้าน หลายพื้นที่เงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในย่านธุรกิจร้านค้า เพราะผู้คนต่างก็หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าสู่พื้นที่แออัด ขณะเดียวกัน คนที่อาศัยอยู่ในย่านที่พักอาศัยที่ห่างไกล ก็หันไปกักตุนอาหารให้มากขึ้นแทน เพราะไม่ต้องการเดินทางบ่อย ๆ ซึ่งปัญหานี้จะคลายลงไป ถ้าเรานำรูปแบบการพัฒนาพื้นที่แบบ mixed use เพื่อให้ย่าน ๆ หนึ่งสามารถทำหน้าที่ได้หลากหลายมากขึ้น คือ เป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และที่พักผ่อน . เหตุการณ์เหล่านี้ จึงนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า เราจะสามารถออกแบบเมืองให้ตอบสนองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปและความท้าทายใหม่ ๆ ได้หรือไม่ ? และอย่างไร ? ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ อาจจะต้องมองย้อนกลับไปถึงตัวนโยบายและกฎหมายผังเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างปัจจุบันทันด่วน . แต่ในด้านของวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ นักวิชาการ นักเขียน และนักออกแบบผังเมืองที่ได้ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับ #USLbangkok ได้ตั้งสังเกตที่น่าสนใจว่า จริง ๆ แล้ว คนกรุงเทพฯ รวมไปถึงคนไทย มีความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างสูง เพราะไม่ค่อยชอบการวางแผนล่วงหน้า และอาศัยการแก้ไขปัญหาในวินาทีสุดท้ายเสมอ (#Impromptu) ซึ่งลักษณะเหล่านี้อาจเป็นผลพวงมาจากลักษณะทางภูมิอากาศที่อบอุ่นมากกว่าประเทศตอนเหนือ คนไทยในอดีตจึงไม่เคยต้องวางแผนกักตุนอาหารให้รอดพ้นฤดูหนาว เพราะสภาพภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นทุนเดิม จึงไม่จำเป็นต้องคิดวิธีการอยู่ให้รอดในวันที่ปลูกข้าวไม่ขึ้น . อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ก็สามารถปรับตัวได้ดี แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์ และอารมณ์ขันในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน และลักษณะนิสัยเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านวิถีชีวิตบนท้องถนนธรรมดา จนไปถึงลักษณะการทำงานของรัฐบาลด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและใกล้ตัวที่สุดในตอนนี้ก็คือ การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย . มาถึงวันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่มีใครไม่ปรับตัว ไม่มีใครไม่ดิ้นรน ให้อยู่รอดภายใต้คำสั่งปิดเมืองของรัฐบาล โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ต้องเจ็บหนักไม่แพ้ใคร แต่เราก็ได้เห็นความพยายามของผู้ประกอบการ ในการคิดค้นฉากกั้นที่ทำจากท่อ PVC และฉากพลาสติก เพื่อทำให้ลูกค้าเข้ามานั่งกินอาหารที่ร้านได้ ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเอง ก็ไม่เคยวางแผนล่วงหน้าว่าจะต้องจัดการ เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างเหมาะสม หรือหาวิธีป้องกัน รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถเอื้ออำนวยนำสาธารณูปการของรัฐ เช่น สนามกีฬา โรงเรียน และสถานที่ราชการต่าง ๆ มาดัดแปลงเพื่อรองรับให้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือ จัดเตรียมเตียงผู้ป่วยให้อย่างเพียงพอ และไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้ได้เลย . คงจะดีเหมือนกัน ถ้าหากวันหนึ่งเราสามารถออกแบบเมืองให้มีความยืดหยุ่น #ความสมดุล ได้มากกว่านี้ เพื่อรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนได้ โดยที่เรายังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และมีการบริหารจัดการจากส่วนกลางที่พร้อมจะเข้าใจ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ในอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ความท้าทายใหม่ๆ มักจะมาอย่างรวดเร็วเสมอ เราจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ และป้องกันให้วิถีชีวิตและเมืองของเราอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างปกติที่สุด



Comments


bottom of page