top of page
Writer's pictureprai wong

"เมืองสร้างคม คนสร้างเมือง"



เราเคยสงสัยกันไหม? แม้ว่าเราจะอาศัยอยู่ในสังคมเมืองเหมือนกัน แต่ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากคนเชียงใหม่ คนขอนแก่น คนภูเก็ต หรือกระทั่งคนที่มาจากพื้นที่เดียวกันในแต่ละย่านของเมืองนั้น ๆ และทำไมแต่ละคนถึงมีภาพจำและความทรงจำเกี่ยวข้องกับเมืองที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิต พฤติกรรมและลักษณะเฉพาะของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละเมือง

.

อาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมและตัวตนของผู้คนจะเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่คน ๆ นั้นอาศัยอยู่ ซึ่งมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป โดยเฉพาะในพื้นที่ของสังคมเมือง

.

เมืองแต่ละเมืองนั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยกลุ่มคนอันหลากหลาย ซึ่งทุกกลุ่มอาชีพล้วนมีส่วนไม่มากก็น้อย ในการสร้างและพัฒนาเมืองร่วมกัน ขณะเดียวกัน เมืองเองก็ส่งผลต่อรูปแบบและลักษณะกิจกรรม พฤติกรรม และวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่และทำงานในเมืองนั้น ๆ

.

ในการสร้างสรรค์เมืองสำหรับทุกคน ที่นอกจากมิติทางกายภาพมักถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ แล้ว มิติทางสังคม ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความคึกคัก ความมีชีวิตชีวาและความน่าอยู่ของเมืองนั้น ๆ ได้

.

กรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทย มีลักษณะร่วมบางประการที่คล้ายคลึงกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะเฉพาะและเอกลักษณ์ที่แตกต่าง

.

ตัวอย่างที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ ‘ตรอก ซอก ซอย’ ของกรุงเทพฯ ขึ้นชื่อเรื่องซอยมาก เป็นเมืองที่มีซอยเยอะแยะเต็มไปหมด บางซอยก็คับแคบ แถมบางซอยยังเป็นซอยตัน ซึ่งการมีอยู่ของตรอก ซอก ซอยที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ ส่งผลให้มีลักษณะเฉพาะและเกิดการพัฒนาเมืองตามลักษณะดังกล่าว รวมไปถึงรูปแบบการเดินทางในตรอก ซอก ซอยเหล่านั้น พร้อมกับภาพจำที่คู่กับปัญหารถติดเสมอ

.

แต่การมีอยู่ของตรอก ซอก ซอย ได้สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และความเป็นตัวตนของคนไทยและเมืองไทยได้อย่างชัดเจน ถ้าเราสังเกตดี ๆ จะพบว่าโครงข่ายที่สลับซับซ้อนของตรอก ซอย ซอยและถนนหนทาง เกิดขึ้นจากสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อน ที่ครั้งหนึ่งก็เคยผูกพันกับแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ

.

‘ตรอก ซอก ซอย’ จึงเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเป็นเมืองอันมีเอกลักษณ์ของไทยได้อย่างชัดเจน

.

ในปัจจุบัน กรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ที่มีทั้งศักยภาพ โอกาส ข้อจำกัดและจุดอ่อนในหลายด้าน โดยเฉพาะวิกฤติโรคระบาดใหม่ ภัยพิบัติและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนั้น การสร้างสรรค์เมืองในอนาคตสำหรับทุกคน ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยได้ จะต้องไม่ลืมความเชื่อมโยงของพื้นที่และผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ

.

เพราะเราเชื่อว่า ถ้าสามารถสำรวจ สืบค้น วิเคราะห์ และสรุปความเป็นตัวเรา ความเป็นเมือง(ไทย) ได้อย่างกระจ่างชัด น่าจะมีส่วนช่วยสร้างสรรค์ทุกเมืองในประเทศไทยให้น่าอยู่ ยั่งยืนได้ และเอื้อเฟื้อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนอย่างครอบคลุม

.

USL จึงขอเชิญชวนมาร่วมติดตาม พูดคุยแลกเปลี่ยน และสำรวจ ค้นหา ความเป็นเมือง(ไทย) หรือ วิถีชีวิตเมือง(ไทย) ผ่านกิจกรรมการเสวนาออนไลน์ในรูปแบบของ Lecture Series ภายใต้ร่มใหญ่ Investigating Thai Urbanism ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 28 ส.ค. นี้ เวลา 10:00-12:00 น. ในหัวข้อ “Popular Urbanism/ City-making from below”

.

เพราะการสร้างสรรค์เมือง คือ เรื่องของทุก ๆ คน

.

Comments


bottom of page