top of page

การจัดสรรงบประมาณรายเขตของ กทม. และปัญหาเชิงพื้นที่



มาส่องงบประมาณของ #กรุงเทพ ดูกันว่าใน 1 ปี กทม. นั้น ใช้เงินไปกับส่วนไหนบ้าง ? และปัญหายอดฮิตในพื้นที่ กทม. ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดใน 5 ปีมานี้ จะมีอะไรบ้าง ? . …แล้ว #ชาวกรุงเทพ จะสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ และจัดสรรงบประมาณของภาครัฐได้อย่างไร ? ต้องทำยังไงบ้าง ? ติดตามต่อได้ใน EP.3 : Participatory Budgeting กับการมีส่วนร่วมในสังคมเมือง



| การจัดสรรงบประมาณรวมของ กทม. ใน 1 ปี

.

ในปี พ.ศ. 2565 นี้ กทม. ได้รับงบประมาณรวมกว่า 79,855,278,450 บาท และได้จัดสรรงบประมาณออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่…


1. หน่วยรับงบประมาณ (สำนักงานภายใต้สังกัด กทม. ทั้งหมด 19 แห่ง)

ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 38,752,900,596 บาท (48.53%)


2. สำนักงานเขต (เพื่อการบริหารจัดการ และภารกิจพื้นฐานของทั้ง 50 เขตใน กทม.)

ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 16,344,955,867 บาท (20.47%)


3. งบประมาณรายจ่ายกลาง

ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 14,417,767,187 บาท (18.05%)


4. เพื่อชดใช้เงินยืมสะสม

ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 6,002,711,400 บาท (7.52%)


5. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2,812,332,400 บาท (3.52%)


6. งบประมาณรายจ่ายการพาณิชย์ (สำนักงานสถานธนานุบาล, สำนักงานตลาด, และสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย)

ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 875,831,950 บาท (1.10%)


7. งบสนับสนุนสำนักกับสำนักงานเขต

ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 648,779,050 บาท (0.81%)

.

ซึ่งกว่า 69% ของงบประมาณรวมทั้งหมดนั้น ถูกจัดสรรให้แก่ #หน่วยรับงบประมาณ (สำนักงานภายใต้สังกัด กทม. และสำนักงานเขต) เป็นจำนวนเงินมากถึง 55,097 ล้านบาทเลยทีเดียว

.

ข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565



| ขั้นตอนการของบประมาณค่าใช้จ่ายรายเขตใน กทม.

.

1. สำนักงานเขตจะทำการจัดเก็บรายได้จากแหล่งต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็น ภาษีและอากร, ค่าธรรมเนียม, ทรัพย์สินกรุงเทพฯ, พาณิชย์, รายได้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น) และจัดส่งรายได้เหล่านี้เข้าสำนักงานคลัง เพื่อจัดเก็บเป็นงบประมาณรวมประจำปี


2. สำนักงานเขตจะจัดทำร่างจัดสรรงบประมาณในแต่ละเขตและภารกิจต่าง ๆ ทั้ง 7 ด้าน เสนอของบฯ กับสำนักงานคลัง


3. หลังจากที่ สำนักงบประมาณกรุงเทพฯ ทำการวิเคราะห์แล้ว จะทำการเสนอร่างข้อบัญญัติรายจ่ายประจำปี ให้แก่ สภากรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อขอความเห็นชอบ และเข้าสู่ขั้นตอนการขออนุมัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานเขตต่อไป


4. โดยสภากรุงเทพฯ จะให้ความเห็นชอบและจัดสรรงบประมาณ ส่งกลับไปที่ สำนักงานเขต


5. หลังจากได้รับการอนุมัติงบประมาณ สำนักงานเขต จะทำการเขียนขอเบิกงบประมาณรายจ่ายส่งไปที่ สำนักงบประมาณกรุงเทพฯ


6. และสุดท้าย สำนักการคลัง จะทำการโอนงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว กลับไปที่สำนักงานเขต ตามที่เสนอขอมา

.

ซึ่งจากขั้นตอนการเสนอของบประมาณค่าใช้จ่าย จาก กทม. ของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตนี้ พบว่าไม่มีขั้นตอนไหนเลย ที่เปิดช่องทางให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม อย่างมากสุดก็มีแค่เพียงการจัดทำประชาพิจารณ์ในช่วงท้ายของการตัดสินใจเพียงเท่านั้น



| การจัดสรรงบประมาณ กทม. ทั้ง 50 เขต

.

จากข้อบัญญัติของ กทม. ในการกำหนดบทบาทหน้าที่ของสำนักงานเขต นั้น งบประมาณรวมทั้ง 50 เขต จะถูกจัดสรรเพื่อใช้ในการบริหารจัดการใน 10 ภาคส่วน

ซึ่งในปีนี้ มีการจัดสรรงบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน และงบสนับสนุน ดังนี้…


1. ฝ่ายรักษาความสะอาด และสวนสาธารณะ

- ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแล รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย,รักษาสิ่งแวดล้อม ,และสนับสนุนงานป้องกัน บรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 7,092,474,790 บาท (43.39%)


2. ฝ่ายการศึกษา

- ซึ่งทำหน้าที่จัดการงานสารบรรณ - ธุรการทั่วไป, ดูแลงานกิจกรรมนักเรียนในสถานศึกษา, การนิเทศและสนับสนุนงานวิชาการ เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 3,005,799,046 บาท (18.39%)


3. ฝ่ายโยธา

- ซึ่งทำหน้าที่จัดการ ดูแลงานก่อสร้าง - ซ่อมแซมสิ่งสาธารณะประโยชน์ เช่น ทางเท้า ถนน สะพานลอย ป้ายจราจร คู คลอง ท่อระบายน้ำ เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 1,529,035,040 บาท (9.36%)


4. ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม

- ซึ่งทำหน้าที่ในการพัฒนาชุมชนและสังคม ทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม อนามัย และคุณภาพชีวิต เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 1,356,356,035 บาท (8.30%)


5. ฝ่ายปกครอง

- ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนปกครอง, สอบสวนรับรองบุคคล,ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย, จัดการเลือกตั้ง, จัดทำประชามติและประชาพิจารณ์ เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 1,035,305,236 บาท (6.33%)


6. ฝ่ายเทศกิจ

- ซึ่งทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชน, ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง, ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ, งานนิติการทั่วไป เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 958,657,620 บาท (5.87%)


7. ฝ่ายทะเบียน

- ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลและจัดทำทะเบียนราษฎร แรงงานต่างชาติ และทะเบียนทั่วไป, จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และพิจารณากำหนดหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 406,940,400 บาท (2.49%)


8. ฝ่ายรายได้

- ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ของ กทม. (เช่น ภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าบริการ ฯลฯ), จัดทำทะเบียน และรายงานการจัดเก็บรายได้ เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 364,678,940 บาท (2.23%)


9. ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล

- ซึ่งทำหน้าที่ในการสุขาภิบาลอาหาร ตลาด สิ่งแวดล้อม สถานที่ และการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ, ควบคุมดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 301,171,750 บาท (1.84%)


10. ฝ่ายการคลัง

- ซึ่งทำหน้าที่จัดการ บริหาร และรายงานภาพรวมงบประมาณ การเงิน การบัญชี เงินอุดหนุนรัฐบาลเงินนอกงบประมาณ เป็นต้น

- ได้รับการจัดสรรงบประมาณไป 293,837,010 บาท (1.80%)

.

ข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565



| งบประมาณกับการแก้ไขปัญหาใน กทม.

งบประมาณส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรร เพื่อควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ กทม. ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561-2565) มีประเด็นปัญหาที่ได้รับแจ้งผ่านศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการปลัด กทม. ใน 5 ประเด็น ได้แก่..


1. ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ปัญหาจราจร, ถนน,อาคาร, โทรศัพท์, ไฟฟ้าประปา, ท่อระบายน้ำ, เขื่อน,คูคลอง เป็นต้น

- ได้รับการร้องเรียนมากถึง 117,665 ครั้ง


2. ปัญหาด้านสังคม เช่น เหตุเดือดร้อนรำคาญ,การบริหารงานบุคคล,การคุ้มครองผู้บริโภค, ยาเสพติด, ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

- ได้รับการร้องเรียนมากถึง 80,715 ครั้ง


3. ปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น เรื่องร้องทุกข์ประเภทอื่น ๆ หรือกระทำผิดในที่สาธารณะ เป็นต้น

- ได้รับการร้องเรียนมากถึง 50,073 ครั้ง


4. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การดูแลต้นไม้ สวนสาธารณะ, ขยะและสิ่งปฏิกูล, สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ เป็นต้น

- ได้รับการร้องเรียนมากถึง 39,036 ครั้ง


5. ปัญหาภัยพิบัติ เช่น เรื่องฉุกเฉินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม,ไฟไหม้, ปัญหาโรคระบาด เป็นต้น

- ได้รับการร้องเรียนมากถึง 22,865 ครั้ง


.

โดยจากข้อมูลสถิติการร้องทุกข์ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 พบว่าปัญหาในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาด้านสังคม เป็นปัญหาหลัก ๆ ที่มีการร้องเรียนเป็นประจำในทุกปี แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - ต้นปี 2565 (กุมภาพันธ์) พบว่าจำนวนการร้องทุกข์ในด้านภัยพิบัติมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปีก่อน ๆ โดยมีจำนวนการร้องทุกข์มากถึง 12,246 ครั้ง ซึ่งอาจมีผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัส #โควิด19

.

ดังนั้น ในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาภายในพื้นที่ เราควรต้องคำนึงถึงบริบทและประชากรในพื้นที่เป็นสำคัญ

.

ข้อมูลจาก สำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพฯ, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพฯ,สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, โครงการยักษ์ดาต้า, Traffy Fondue



| ความหนาแน่นและการกระจายตัวของปัญหาใน กทม.

.

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลตำแหน่งการแจ้งร้องเรียน (ผ่าน Open Platform) ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน พบว่าปัญหาส่วนใหญ่มักถูกร้องเรียนในพื้นที่ กรุงเทพเขตชั้นกลาง ซึ่งอาจมีปัจจัยมาจากแหล่งที่อยู่อาศัย, ที่ทำงาน, ศูนย์กลางเศรษฐกิจ หรือการเดินทาง ทั้งการเดินเท้า การขึ้นขนส่งสาธารณะ และรถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น

.

โดยส่วนมากมักเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง (เช่น ทางเท้า, ท่อน้ำ, ถนน, จุดจอดรถสาธารณะ, สะพานลอย, เป็นต้น) นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเรื่องของขยะ-สิ่งปฏิกูล และปัญหาน้ำท่วมในจำนวนที่มากรองลงมา

.

…แล้ว #ชาวกรุงเทพ จะสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ และจัดสรรงบประมาณของภาครัฐได้อย่างไร ? ต้องทำยังไงบ้าง ? ติดตามต่อได้ใน EP.3 : Participatory Budgeting กับการมีส่วนร่วมในสังคมเมือง

.


ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพฯ,สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, โครงการยักษ์ดาต้า, Traffy Fondue

bottom of page