top of page

นโยบายทางเดินเท้า กับบทบาทการพัฒนาเมืองอย่างครอบคลุมสำหรับทุกคน

ในช่วงเวลาที่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ต่างก็ให้ความสำคัญต่อการเดินเท้าในมิติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ ร้องเรียนในประเด็นด้านการออกแบบ หรือด้านการก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดและการจัดลำดับความสำคัญระบบทางเท้าในเมืองของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหาร ซึ่งนโยบาย หรือแนวทางการพัฒนานั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยจัดการทางเท้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่นั้น ๆ สร้างการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และยั่งยืน


| นโยบายทางเดินเท้าในบริบทของ กทม.

ความสำคัญของการมีนโยบายการจัดการทางเท้านั้น เป็นการกำหนดแนวคิด ความสำคัญ กระบวนการ และเป้าประสงค์ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเขตและย่านนั้นๆ ต่อการออกแบบ พัฒนา ก่อสร้างปรับปรุง และการจัดการทางเท้า

นโยบายทำหน้าที่เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาทางเท้าในระยะยาว ช่วยเพิ่มความสอดคล้องต่อเนื่องระหว่างกายภาพของทางเท้าและกิจกรรม ทั้งยังช่วยให้ทางเท้านั้น มีพลวัตของกิจกรรมตามแต่ช่วงเวลา ฤดูกาลที่เหมาะสมกับบริบทสังคม เศรษฐกิจและชุมชนในแต่ละย่านมากขึ้น ส่งเสริมบทบาทของโครงข่ายทางเท้า ในมิติของความเป็นพื้นที่สาธารณะไม่เพียงแต่เป็นโครงข่ายการเดินทางสัญจร ดังนั้นความเข้าใจต่อกิจกรรม บริบทของทางเท้า กิจกรรม และวิถีชีวิตของผู้คน และชุมชนต่างๆ ทางเดินเท้าจึงมีความสำคัญต่อแนวทางการออกแบบนโยบายการเดินทางที่ตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมทางการเดินทาง เศรษฐกิจ และสังคมประเภทต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนทุกคน

สำหรับกรุงเทพมหานครนั้น #นโยบายทางเดินเท้า ยังมีความสำคัญในการช่วยบูรณาการองค์กรภาครัฐที่มีระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางเท้า และไม่ถูกควบรวมการบริหารจัดการในมิติขององค์กรท้องที่แบบองค์รวม ยกตัวอย่างเช่น งานทางเท้า งานรถไฟฟ้า งานถนนหลัก งานแสงสว่าง และงานประปานั้น มีอำนาจแยกออกจากกันอยู่ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขึ้นตรงกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงต่างๆ หรือรัฐวิสาหกิจของกระทรวงต่างๆ ไม่ได้ถูกกำกับด้วยเขตท้องที่ หรือกรุงเทพมหานครโดยตรง นโยบายทางเดินเท้าทำให้เกิดความต่อเนื่องของการทำงานอยู่บนบรรทัดฐาน และวัตถุประสงค์ร่วมกัน ทั้งยังเพิ่มและยกระดับมาตรฐานการจัดการทางเท้า และมาตรฐานการออกแบบด้านกาายภาพไปพร้อมกัน .

| กลไกการจัดทำนโยบายทางเดินเท้า

สำหรับกระบวนการในการจัดทำนโยบายทางเท้า รวมถึงมาตรฐานกายภาพทางเท้า และการบังคับใช้นโยบายทางเท้าต่าง ๆ นั้น ควรประกอบไปด้วยกระบวนการในการเชิญชวนประชาชนที่อยู่อาศัย และสัญจรไปมาในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เริ่มจากการรู้จริงในข้อมูลประชากรด้านจำนวน อายุ สถานะทางเศรษฐกิจ จากนั้นจึงใช้กระบวนการสำรวจ การทำประชาพิจารณ์ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการออกแบบและกำหนดนโยบาย รวมไปถึงการนำภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคประชาชน ภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม จัดสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมการเดินเท้าระดับย่าน เพื่อสร้างเป้าหมาย วัตถุประสงค์ร่วมในการพัฒนาโครงข่ายทางเท้าให้มีความครอบคลุมมากที่สุด

ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น สามารถใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ เช่น พรบ.ควบคุมอาคาร, พรบ.ผังเมือง, พรบ.รักษาความสะอาด, และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร หรือการใช้กระบวนการเชิงรุกของภาคีพัฒนาเมือง ภาคีการศึกษาต่าง ๆ ในการผลักดันให้เกิดมาตรฐานการพัฒนาโครงข่ายทางเท้าระดับย่าน

อย่างไรก็ดี การออกนโยบายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในหลาย ๆ กลไกที่สามารถเสริมสร้างการบูรณาการ และเพิ่มมิติการพัฒนาทางเท้า โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างทางเท้าสำหรับคนทุกคน ที่ไม่เพียงเดินสะดวก หรือเพิ่มความสะดวกในการใช้ทางเท้าของผู้ทุพพลภาพ และคนชรา แต่หมายถึงการสร้างทางเท้าที่ตอบสนองต่อการใช้งานทุกรูปแบบอย่างเท่าเทียม ทำให้ประสบการณ์การใช้ทางเท้าและการเดินทางของคนทุกวัย ทุกสภาวะ ทุกเพศนั้นสะดวก ปลอดภัย ให้ทางเท้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานการสัญจรสำหรับทุกคน ให้ทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่โอบรับความหลากหลายของการใช้งาน ความหลากหลายสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในเมือง


bottom of page