top of page

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกโรคระบาดให้เกิดผังเมืองใหม่



ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่าเชื้อไวรัสเล็กจิ๋วที่ก่อให้เกิดโรคระบาดไปทั่วโลกอย่างโรค #โควิด-19 จะเข้ามาพลิกวิถีชีวิตมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ จนเกิดเป็น #วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ เว้นระยะห่างทางสังคม พ่นแอลกอฮอล์ใส่ทุกสิ่งที่สัมผัส ทำงานจากที่บ้าน เรียนหนังสือผ่านทางออนไลน์ . ยิ่งไปกว่านั้น มันยังทำให้มนุษย์กลับมาทบทวนถึงความสำคัญของ ‘เมือง’ ว่าเมืองที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้มันตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้จริงหรือไม่ ? หรือยืดหยุ่นมากพอที่จะป้องกันวิกฤติต่าง ๆ ในอนาคตได้อีกอย่างไร ? ซึ่งในสังคมไทยปัจจุบันก็มีการพูดถึงประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง โดย Urban Studies Lab เองก็หวังว่า เหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจในศาสตร์การออกแบบเมือง และตื่นตัวกับปัญหาสุขภาพมากขึ้นในประเทศไทย . เป็นที่รู้ดีกันว่า หลักการและกฎหมายการวางผังเมืองและออกแบบเมืองส่วนใหญ่ ล้วนมีที่มาจาก #ความกังวลทางสุขภาพ เช่น กฎหมายช่องระบายอากาศ, กฎหมายห้องน้ำ, มาตรฐานอาคารและสัดส่วนที่พักอาศัย, หลักการวางระบบท่อน้ำทิ้งและระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรค และกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยนำมาซึ่งโรคระบาดและปัญหาเชิงสุขภาพร้ายแรงในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเมืองที่มีการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาพความแออัดของอาคารบ้านเรือน และการกระจุกตัวของความเจริญในบางย่านเท่านั้น . นอกจากหลักการว่าด้วยการวางผังเมืองและออกแบบเมืองแล้ว ก็ยังมีข้อบังคับว่าด้วยความสะอาดของประชาชนและพื้นที่สาธารณะ เช่น การกำหนดจุดทิ้งขยะ-เวลาเก็บขยะให้ชัดเจน, การใช้แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคอย่างเหมาะสม, การห้ามถ่ายสิ่งปฏิกูลในที่สาธารณะ, หรือการรักษาความสะอาดส่วนบุคคลเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาปฏิบัติใช้ในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก และกลายเป็นมาตรฐานหลักของเมืองที่ดี เมืองที่เป็นมิตรต่อสุขภาพในปัจจุบัน . อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดบทสนทนาว่าด้วยมาตรฐานของเมืองที่ดีในยุคหลังโรคระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็น “เมือง 15 นาที” (15-minute city) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการจัดตั้งสาธารณูปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านค้า, ร้านอาหาร, โรงเรียน, โรงพยาบาล, และพื้นที่สาธารณะ ให้อยู่ในระยะ 15 นาทีจากชุมชนที่อยู่อาศัย เพื่อให้คนสามารถเดินเท้า ปั่นจักรยานหรือใช้บริการขนส่งมวลชนในระยะทางที่สั้นที่สุด โดยไม่ต้องไปแออัดในห้างสรรพสินค้าใหญ่ เหมือนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่น ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 . นอกจากนี้ แนวคิดเมือง 15 นาที จะช่วยลดมลพิษจากรถยนต์บนท้องถนน อันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่รบกวนชีวิตของคนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่มานานหลายปี จนหลายคนถึงกับมีปัญหาระบบทางเดินหายใจเรื้อรังกันเลยทีเดียว พ่อแม่หลายคนก็เริ่มกังวลกับอนาคตของลูกน้อยของตัวเองมากขึ้น เพราะไม่อยากให้เด็ก ๆ ต้องเติบโตขึ้นมาสูดอากาศที่มีแต่ฝุ่นเช่นนี้ . ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ ถ้าหากเรามีการพูดคุยและร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจังและยั่งยืน อย่าซ้ำรอยเหมือนหลังเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มารวมตัวกันพูดคุย ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับน้ำ จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เราจะต้องหาทางอยู่กับน้ำอย่างยั่งยืนให้ได้ เพราะปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่มีนโยบาย แนวทาง หรือเป้าหมายในการอยู่ร่วมกับน้ำเลย มีแต่วิธีแก้ปัญหาที่พิสูจน์มาแล้วว่าไร้ประสิทธิภาพ มีแต่สร้างปัญหาให้รุนแรงมากขึ้นอย่าง การสร้างกำแพงคอนกรีตกันน้ำและติดตั้งปั๊มสูบน้ำ แทนที่จะเป็นการปรับผังเมืองให้รองรับการไหลของน้ำ การออกแบบระบบระบายน้ำเสียใหม่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รับน้ำหน่วงน้ำในตัวเมือง ที่อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมได้ . ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องหันมาเอาจริงเอาจริงในการแก้ไขปัญหา และความสำคัญของการออกแบบเมืองที่ดีเสียที เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การมีผังเมืองที่ดี #ผังเมืองที่ไม่เหลื่อมล้ำ ช่วยให้ผู้คนและชุมชนยังสามารถอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตได้อย่างไร และช่วยแบ่งเบาภาระระบบสาธารณสุขได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพราะในอนาคตข้างหน้า เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดโรคระบาดอะไรขึ้นอีก บวกกับปัญหาสภาพอากาศโลกที่เริ่มเลวร้ายลงทุกปี การเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจทำให้ชีวิตของผู้คนนับล้านต้องตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว . อย่าปล่อยให้การระบาดของโรคโควิด-19 ในวันนี้ เป็นวิกฤตที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 (และน้ำท่วม 2564) อีกเลย เรามีตัวอย่างมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ไม่มีเมืองไหนที่ไม่ปรับตัว ถึงเวลาแล้วที่เมืองของไทยจะต้องได้รับการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเสียที



bottom of page