top of page

เจาะปัญหาโควิด-19 กับ วิกฤตเตียงเต็ม



จากสถานการณ์การแพร่ระบาด #โควิด19 ในประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยสะสมกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (Delta) ที่ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อได้ 5-8 คน ทำให้สัดส่วนการติดเชื้อเพิ่มเร็วมากขึ้นกว่าเดิม (จากข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. 64 โดยศูนย์ข้อมูล COVID-19 พบผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 11,305 ราย) เกิดความต้องการเตียงผู้ป่วยหนัก และเตียง ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดเป็นจำนวนมาก


แม้จำนวนและความต้องการในการเข้าถึงเตียงของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เตียงในโรงพยาบาลนั้นมีอยู่อย่างจำกัด โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบว่าอัตราการครองเตียง (Bed Occupancy Rate) มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 เตียง แสดงให้เห็นว่าจำนวนเตียงว่างกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ


ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ อย่างโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) จึงเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วน ที่หลาย ๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน, ภาคประชาชน, หน่วยงานต่าง ๆ , บุคลากรด้านสาธารณสุขต่างก็ออกมาเรียกร้อง ซึ่งความต้องการเหล่านี้ ก็มีจำนวนที่มากพอ ๆ กับความต้องการในการเข้าถึง Vaccine ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดโควิด 19 ของประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์


‘วิกฤตเตียงเต็ม’ ‘การเพิ่มเตียงสนามและจุดคัดแยกผู้ป่วย’ หรือ ‘การสร้างระบบดูแลผู้ป่วยในชุมชน’ ต่างก็เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากผ่านสื่อโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นบทความ, ข่าว, การเสวนา, หรือการติดแฮชแท็กใน Facebook Twitter โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตโควิด 19 ระลอกที่ 3 ที่ผ่านมา Urban Creature ได้เสนอไอเดียการออกแบบโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจในฝัน โดยเลือกพื้นที่ในเมืองที่น่าสนใจอย่าง ศาลาวัด หอศิลป์ โรงหนัง ลานโบว์ลิง สนามกีฬา ซึ่งพิจารณาจากขนาดของพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก ไฟฟ้า ห้องน้ำ ความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ City Cracker ได้เสนอข้อกำหนดและหลักการในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และการแบ่งพื้นที่ใช้สอย ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ตามหลักการที่ถูกต้องของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว อ้างอิงจากกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวยังถูกพูดถึงผ่านเวทีเสวนาอีกด้วย เวทีเสวนา Live The Active ได้มีการกล่าวถึงประเด็น ชุมชน-โรงพยาบาล ‘จับคู่กู้วิกฤตเตียงเต็ม’ เพื่อเสนอแผนการ Home Isolation ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวผ่านสายด่วน สปสช. 1330 และเสนอแนวทางการสร้างศูนย์พักคอย (Community Isolation) พร้อมทั้งเสนอแนวคิดในการจัดตั้ง Community Isolation รอบพื้นที่ชุมชนที่มีการระบาด และมีข้อจำกัดด้านที่อยู่อาศัย ทำผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำ Home Isolation ได้


จากข้อมูลดังกล่าว หนึ่งในแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์อัตราการครองเตียงที่เพิ่มสูงขึ้น จนอาจเกิดวิกฤตเตียงเต็ม หรือเกิดปัญหาการขาดแคลนเตียงในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้นั้น คือการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ โดยสามารถทำได้ผ่าน 2 มาตรการดังนี้


1. มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งจะพิจารณาตามดุลยพินิจแพทย์และความสมัครใจของผู้ติดเชื้อ - ใช้สำหรับแยกกักตัวผู้ติดเชื้อระหว่างรอเตียง หรือกักตัวผู้ติดเชื้อหลังเข้ารับการรักษา 10 วัน แล้วมีอาการดีขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาและสำรองเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด - โดยในการแยกกักตัวผู้ติดเชื้อที่บ้านนั้น จะมีทีมแพทย์คอยติดตาม ประเมินอาการ และให้คำปรึกษา ผ่านระบบ Telemedicine - หากในระหว่างการแยกกักตัวผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลงไป หรือมีอาการแย่ลง ก็สามารถแจ้งทีมแพทย์ และสถานพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาในขั้นต่อไปได้


โดยในมาตรการดังกล่าว มีเกณฑ์ในการเลือกกลุ่มผู้ติดเชื้อ ดังนี้ - เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ - ผู้ติดเชื้อจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี - ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง - ต้องอาศัยอยู่เพียงคนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมอาศัยไม่เกิน 1 คน - ผู้ติดเชื้อไม่มีภาวะอ้วน หรือโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคไตเรื้อรัง (CKD Stage 3-4), โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ - ผู้ติดเชื้อยินยอมที่จะแยกตัวอยู่ในที่พักของตนเองตามดุลยพินิจของแพทย์


2. มาตรการกักตัวที่ศูนย์พักคอย (Community Isolation) - รองรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อกัดด้านที่อยู่อาศัย, ความกังวลของผู้ติดเชื้อ, หรือกลุ่มผู้ติดเชื้อเด็กที่ผู้ปกครองมีอาการป่วย เป็นต้น - สามารถรองรับผู้ติดเชื้อสูงสุดไม่เกิน 200 คน - ส่วนใหญ่มันจะใช้สถานที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง หรือพื้นที่แยกเอกเทศ เช่น หอประชุมโรงเรียน ศาลาในวัด แคมป์คนงาน หรืออาคารที่แยกตัวออกจากชุมชน เป็นต้น - มีสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ - มีการจัดการของเสียแยกจากชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ - มีระบบน้ำ ไฟ และระบบการประปาที่รองรับกลุ่มผู้ติดเชื้อ - มีระบบการจัดการภายใน โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรืออาสาสมัครสาธารณสุข(อสส.) คอยดูแลและประเมินอาการผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. - และจะมีทีมแพทย์คอยติดตาม ประเมินอาการ และให้คำปรึกษา ผ่านระบบ Telemedicine - มีอาหาร, ยา, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว(สำหรับวัดค่าออกซิเจนในเลือด), เครื่องออกซิเจน(ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95%) ให้บริการ - ในกรณีฉุกเฉิน จะมีการส่งตัวผู้ติดเชื้อจากศูนย์พักคอยไปยังสถานพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาในขั้นต่อไป


โดยในมาตรการดังกล่าว มีเกณฑ์ในการเลือกกลุ่มผู้ป่วย ดังนี้ - เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรง - ผู้ติดเชื้อต้องไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคไตเรื้อรัง (CKD Stage 3 - 4), โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ - ต้องเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) - หรือเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

* สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านสายด่วน สปสช.1330


แม้ว่าสื่อต่าง ๆ จะมีการเสนอแนวทาง วิธีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์คัดกรอง จุดพักคอย (Community Isolation) และการจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านในกรณีแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่โควิด 19 ได้มีการระบาดอย่างหนัก ปัญหาในเรื่องปริมาณเตียงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข


ทางผู้เขียนจึงอยากเสนออีกหนึ่งแนวทางในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินความพร้อมของพื้นที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อหาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย พิจารณาจากระยะเวลาการเข้าถึงโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อความสะดวก และรวดเร็วในการติดต่อส่งตัวผู้ติดเชื้อกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที


ในการวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และจุดพักคอย เป็นการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลแบบเปิด (Spatial data) บนฐานข้อมูลของ Data.go.th และข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจัยดังกล่าว จะถูกนำมาวิเคราะห์แบบลำดับขั้น Analytic Hierarchy Process (AHP) โดยพิจารณาจากความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ (Accessibility) เช่น ระยะทางจากถนนสายหลัก, ระยะห่างจากชุมชน, ระยะห่างจากโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข, ความหนาแน่นของระบบขนส่ง, และระดับความเปราะบาง COVID-19 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และจุดคัดกรองผู้ป่วย ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังสามารถเป็นเครื่องมือในการวางแผนกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรอง ตรวจหากลุ่มเสี่ยง, การกระจายกลุ่มเสี่ยงตามศูนย์พักคอย, การจัดแบ่งพื้นที่การให้บริการของโรงพยาบาล และศูนย์พักคอย, จนถึงขั้นตอนการจัดสรรเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน


จากข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอไปนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำฐานข้อมูลเปิดจากภาครัฐมาวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และวางแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยพบว่าข้อมูลที่มีความละเอียด ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน จะทำให้สามารถนำมาวิเคราะห์ วางแผน จัดการปัญหาเชิงลึกในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถเข้าถึงปัญหากลุ่มเปราะบางในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้เกิดแนวทาง หรือมาตรการเยียวยาฟื้นฟูที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในแต่ละพื้นที่




bottom of page