top of page
Writer's pictureprai wong

แรงงานชาวต่างชาติ กลุ่มเปราะบาง ภายใต้สภาวะการระบาดของ covid-19

การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศนั้น นับเป็นการตรวจพบการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของการระบาด COVID-19 ในประเทศไทย ถึงแม้ตัวเลขดังกล่าวยังคงดูไม่มากนักหากเทียบกับหลายประเทศในระดับสากล แต่อัตราส่วนการติด COVID-19 ต่อจำนวนการสุ่มตรวจนั้นเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มการระบาดที่มีความน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ใช้แรงงานจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLM (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์) โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมาร์ โดยประชากรเหล่านี้มีความเปราะบางทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเดิมอยู่แล้ว

.

ในขณะที่แรงงานเหล่านี้นั้นเป็นกลไกขับเคลื่อนของเศรษฐกิจของประเทศไทย กลไกตลาด ค่าแรงที่ต่ำ และการเข้าถึงสวัสดิการและมาตรฐานต่างๆ ของแรงงานที่ไม่สัมพันธ์กับต้นทุนการจัดการประชากรแรงงานกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ เกิดเป็นสภาพนอกระบบ (Informal Sector) ที่ติดตามและจัดการได้ยากขึ้นในระบบการทำงานของระฐ มาตรการการรับมือกับการหลั่งไหลอพยพของแรงงานผ่านทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง และหลบหนีเข้ามาทางช่องทางต่างๆ ในช่วงการระบาดเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของการจัดการเมืองกับกลุ่มประชากรชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง อีกทั้งยังสัมพันธ์กับปัจจัยเหนือการควบคุมอย่างเศรษฐกิจและนโยบายการรับมือกับการระบาดของประเทศต้นทางของแรงงานอีกด้วย

.

อย่างไรก็ดีประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรก หรือเป็นเพียงประเทศเดียวที่การระบาดใหญ่เกิดในกลุ่มประชากรชาวต่างชาติโดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานที่มีความเปราะบางทางสังคมและเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆทั่วโลกล้วนพบเจอกับสถานการณ์การระบาดที่มีความสัมพันธ์กับประเด็นเรื่องความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติหรือผู้อพยพกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ทั้งนั้น บทความออนไลน์ฉบับนี้จะพาไปเจาะประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ การใช้พื้นที่เมือง ผ่านประเด็นปัญหาด้านความเท่าเทียม ช่องโหว่ทางกฎหมาย อันส่งผลให้การระบาดนั้นเป็นไปอย่างอย่างรุนแรง รวดเร็ว และอ่อนไหวต่อกลุ่มประชากรแรงงานต่างชาติที่มีความเปราะบางเหล่านี้




สมุทรสาคร


พื้นที่การระบาดอันเป็นจุดอย่างจังหวัดสมุทรสาครนั้นเป็นจังหวัดปริมณฑล ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทยที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 73 ของประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (GPP) ในปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท จังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองโรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจการประมง และพาณิชยการที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก เป็นเหตุให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในสมุทรสาครจำนวนมากโดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมาร์และลาว

.

สมุทรสาครมีประชากร 577,964 คน มีแรงงานต่างสัญชาติที่ขึ้นทะเบียนแรงงาน แต่ไม่ถูกนับรวมในทะเบียนประชากร จังหวัดสมุทรสาครนั้น 268,084 ราย หรือคิดเป็น 31% ของประชากร ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาครคาดการณ์ว่า ประชากรแฝงของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นประชากรที่เป็นแรงงานชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด ทั้งที่มีใบอนุญาติ (ขึ้นทะเบียน) และลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายนั้น มีจำนวนเกือบเท่า ประชากรในทะเบียนจังหวัดสมุทรสาคร นั่นหมายความว่าจำนวนประชากรจริงในเขตจังหวัดอาจมีจำนวนสูงถึงเกือบ 1 ล้านคน

.

ถิ่นฐานของแรงงานในสมุทรสาครนั้นโดยส่วนมากจะตั้งอยู่ตามเขตเมืองโดยเฉพาะเทศบาลเมืองสมุทรสาคร เทศบาลนครอ้อมน้อย โดยทั้งสองเทศบาลนี้นั้นตั้งอยู่บนแนวถนนสายหลักเชื่อมต่อโดยตรงกับกรุงเทพมหานคร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจังหวัดสมุทรสาครโดยเฉพาะในเขตการระบาดย่านเขตเทศบาลเมืองสมุทรสาครนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อกรุงเทพมหานคร และเมืองต่างๆโดยรอบ รวมถึงประเทศไทยทั้งหมด โดยตรงทั้งในเชิงสังคม การคมนาคม และเศรษฐกิจ โดยเมืองโครงข่ายความสัมพันธ์ของเมืองทั้งสองนั้น ทั้งเศรษฐกิจการค้า การผลิต การขนส่ง และการคมนาคมเป็นโครงข่ายที่เกื้อกูลกันเป็นระบบเดียวแบบเมืองหลักและเมืองบริวาร

.

อ้างอิง

- สถิติแรงงานรายจังหวัด - กระทรวงแรงงาน (2020) www.mol.go.th

- แผนพัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร 2561 - 2565 ฉบับทบทวนรอบปี 2564 - จังหวัดสมุทรสาคร (2020)



ประชากรแฝง


ประชากรแฝง คือ ประชากรที่มีความสัมพันธ์ และใช้ประโยชน์พื้นที่อื่นนอกจากที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์อย่างเป็นกิจวัตร ประชากรแฝงนั้นเป็นได้ทั้งประชากรสัญชาติไทย และต่างชาติ

.

การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในหมู่ผู้แรงงานชาวต่างชาตินั้นได้สะท้อนถึงประเด็นปัญหาด้านประชากรแฝง โดยเฉพาะประชากรแฝงของจังหวัดสมุทรสาครที่มีปริมาณมากไล่เลี่ยกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ โดยทางทฤษฎีแล้วนั้นการรับรู้จำนวนประชากรควรขึ้นอยู่และสัมพันธ์กันทั้งหมด ข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนถึงจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลถิ่นพำนักอาศัย และการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้ในการจัดสรรการให้บริการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณสุข ฯลฯ หน่วยงานราชการหรือบริการสาธารณะต่างๆเช่น การประปาฯ การไฟฟ้าฯ การคมนาคมขนส่งสาธารณะยังสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการประมาณการประชากรโดยประมาณแต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วนั้นโอกาสคลาดเคลื่อนอยู่มากกว่าการจัดเก็บผ่านทะเบียนราษฎร์โดยตรง

.

แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานชาว CLM (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์) นั้นมีหลากหลายกว่าประชากรแฝงสัญชาติไทย ซึ่งการรับรู้ต่อจำนวนประชากรกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติเหล่านี้ของรัฐนั้นมิได้รับรู้ผ่านทางทะเบียนราษฎร์เป็นหลัก แต่เป็นทะเบียนแรงงาน (พระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560) เนื่องจากการขึ้นทะเบียนผู้อยู่อาศัย และ/หรือผู้เช่า (พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534) หรือการจดทะเบียนการเช่า หากสัญญาเช่ามีระยะเวลาเกินกว่าสามปี (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) เป็นไปได้ยากและไม่สัมพันธ์กับความมั่นคงของตำแหน่งงานซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงความยืดหยุ่นในการอยู่ในและนอกระบบที่ต่ำลง ทำให้ทะเบียนเหล่านี้เป็นภาระกับทั้งผู้จ้างและลูกจ้างมากกว่าเป็นประโยชน์

.

ความยุ่งยาก ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างต้นทุนต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่าย เวลา และการเข้าถึงบริการขึ้นทะเบียนที่ยังไม่สะดวกนัก โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนผู้อยู่อาศัยและผู้เช่านั้นถูกมองข้าม สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้อมูลประชากรในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติกลุ่มนี้ถูกรับรู้ในเชิงความเป็นแรงงาน แต่ขาดข้อมูลในเชิงของความเป็นพลเมือง เช่น ที่อยู่อาศัย ครอบครัว สังคม และอื่นๆ ทำให้การมีข้อมูลของประชากรชาวต่างชาติของแต่ละพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และการนำไปวางแผนการบริหารจัดการเมือง หรือการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับขนาด และความหลากหลายของประชากร



ความเปราะบางของแรงงานชาวต่างชาติกลุ่ม CLM


กลุ่มแรงงานชาวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางจะประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLM (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์) นั้นตกเป็นจุดสนใจของการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่นี้ ทั้งหมดนั้นมีสาเหตุมาจากวงจรเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมไทย ภาคการเกษตร และภาคบริการนั้น มีความต้องการแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ค่าจ้างราคาต่ำ และความต้องการงานของชาวต่างชาติในกลุ่มประเทศ CLM นั้นมีสูง ประเทศไทยจึงเป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่มแรงงานชาวต่างชาตินี้ แต่การมีอยู่ของตลาดแรงงานสองสองระบบ (Dual Labour Market) ค่าแรงที่ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ การออกสู่นอกระบบ และการเข้าไม่ถึงระบบทะเบียนและสวัสดิการต่างๆนั้น ซึ่งดูจะเป็นประโยชน์กับต่อผู้จ้าง และระบบเศรษฐกิจต่างๆในสภาวะปกติเดิม กลับกลายเป็นจุดบอดของกลไกในการควบคุมโรค และสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ต้นทุนแฝงต่างๆ และประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดและเป็นภาระกับแรงงานต่างชาติเหล่านี้

.

โดยกฎหมายแล้วนั้นแรงงานชาวต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนไว้นั้นจะมีสวัสดิการ รวมถึงมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำทัดเทียมใกล้เคียงกับแรงงานชาวไทย ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานทั้งไทยและต่างชาตินั้นอยู่ที่ 331 บาทสำหรับจังหวัดสมุทรสาครและกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ดีข้อจำกัดของค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อเทียบกับระดับค่าครองชีพปัจจุบันนั้นก็เป็นที่ถกเถียงถึงความเหลื่อมล้ำอยู่เรื่อยๆ

.

ยิ่งกับแรงงานชาวต่างชาตินั้นก็ยังมีข้อจำกัดด้านขั้นตอนทางกฎหมายและการจำกัดจำนวนแรงงานชาวต่างชาติของประเทศไทย ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบในการจัดหาแรงงานนอกระบบเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย โดยเป็นการลดต้นทุนเรื่องค่าจ้างแรงงาน ผ่านการหลบเลี่ยงการใช้มาตรฐานเดียวกับรัฐ

.

จากการสำรวจของ TDRI ในปี 2014 ได้ชี้ให้เห็นว่า มีการหลบเลี่ยงกำแพงค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างชาติในระบบทะเบียน โดยการทดแทนด้วยแรงงานต่างชาตินอกระบบ ซึ่งได้รับค่าแรงที่ราวๆ 50% ถึง 70% ของค่าแรงขั้นต่ำ ซ้ำยังไม่รวมถึงสัญญาจ้างแบบชั่วคราว หรือการทำงานแบบไม่มีสัญญาที่ไม่สามารถรับรองความแน่นอนในตำแหน่งการงาน เป็นการเพิ่มความเปราะบางต่อกลุ่มแรงงานต่างชาติเหล่านี้เป็นอย่างมาก

.

ต้นทุนแฝงต่างๆจากความไม่แน่นอน เช่น สุขภาพ ความปลอดภัย การกินอยู่ต่างๆ หรือมาตรฐานการทำงานนั้นถูกผลักเป็นภาระแก่ตัวผู้ใช้แรงงานชาวต่างชาติ ด้วยค่าแรงที่ต่ำ ต้นทุนทั้งทรัพย์สินและเวลาที่สูง ทำให้แรงงานจำนวนมาก ติดกับดักอยู่นอกระบบสวัสดิการต่างๆ ที่พึงได้รับในฐานะเป็นฟันเฟืองของกลไกเศรษฐกิจ และสำคัญที่สุดนั้นคือความเป็นพลเมืองคนหนึ่ง การขาดหายไปของรายได้ที่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ ความปลอดภัยในชีวิต และหน้าที่การงานทำให้กลุ่มประชากรกลุ่มแรงงานต่างชาติต้องยืดหยุ่นและปรับตัวตามข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่เป็นอย่างมาก

.

ความเป็นอยู่ที่เปราะบางภายใต้สภาวะการระบาดของโรค COVID-19 นั้นยังส่งผลให้เกิดการติดต่อได้รวดเร็ว และกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นจากการสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกันในสภาวะบังคับ เช่น การโดยสารรถสาธารณะที่แออัด การอยู่หรือแบ่งปันพื้นที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงงานที่ต้องทำในพื้นที่เสี่ยงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเว้นระยะห่างใดๆได้

.

อ้างอิง

- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบาย. ค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่า 300 บาทต่อวัน - สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI (2014)

- Those most negatively impacted by COVID-19 - Lin Lerpold & Örjan sjöberg (2020) https://www.hhs.se/.../those-most-negatively-impacted-by.../ -



International Cases


ประเด็นของการระบาดของ COVID-19 และความเปราะบางของกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวต่างชาตินั้นเป็นเรื่องที่ประเทศและองค์กรในระดับสากลนั้นให้ความสำคัญ ด้วยเป็นประเด็นร่วมที่เด่นชัดและมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆด้าน โดยมีปัจจัยด้านสัญชาติเป็นตัวแปรสำคัญ โดยมีตัวอย่างจากรายงานการศึกษา 3 แห่งคือ สิงคโปร์ กลุ่มประเทศ Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD และ กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ นั้นชี้ให้เห็นตรงกันว่า กลุ่มแรงงานต่างชาติที่มีความเปราะบางเนื่องจากรายได้ สวัสดิการ ประเภทงาน และความมั่นคงในอาชีพการงานนั้น ต่ำกว่าประชากรหลักของประเทศเช่นกัน

.

Singapore


การศึกษาของ David Koh พบว่าจากกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติทักษะต่ำในสิงคโปร์ในหอพักแรงงานนั้น พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 17,758 ราย จากรายงานทั้งประเทศคือ 20,198 ราย หรือคิดเป็น 88 % ของทั้งหมด โดยมีตัวแปรหลักอยู่ที่ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยของแรงงานเหล่านี้ โดยในทันทีที่สามารถตรวจสอบรูปแบบของการระบาดในชุมชนกลุ่มนี้ได้นั้น รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดทีมผสมผสานทั้งงานสาธารณสุข งานความมั่นคง และหน่วยงานอื่นๆในการคัดกรอง คัดแยกแรงงานต่างๆ รวมถึงจัดสถานที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เช่น ห้องว่าง ค่ายทหาร ศูนย์จัดแสดงสินค้า หรือบ้านเรือนแพ ในการกระจายการกระจุกตัวของผู้อยู่อาศัยออกชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อลง


OECD countries


พบว่าผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้อพยพทั้งการเข้าถึงบริการสาธารณสุข บริการอื่นๆจากภาครัฐ ผลกระทบถึงคนในครอบครัวจาก COVID-19 และมาตรการเช่นการปิดสถานศึกษา สถานอนุบาลต่างๆ

.

ทั้งยังพบว่าสภาพการอยู่อาศัยอย่างแออัดของกลุ่มคนเหล่านี้มีมากกว่ากลุ่มประชากรที่เป็นสัญชาติท้องถิ่นโดยกำเนิดถึงหนึ่งเท่าตัว (17% ต่อ 8%) ส่งผลให้การติดต่อในกลุ่มประเทศ Nordic นั้นมีอัตราการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติและผู้อพยพสูงกว่าพลเมืองโดยกำเนิดระหว่าง 1 ใน 3 สวนทางกับอัตราส่วนประชากรที่มีเพียง 1 ใน 5 ในทิศทางเดียวกันการศึกษาในประเทศอังกฤษยังพบอีกว่าผู้ติดเชื้อนั้น 1 ในเป็นกลุ่มคนเชื้อสาย BAME หรือมีเชื้อสายแอฟริกัน เอเชีย ละตินอเมริกัน และชาติพันธุ์ย่อยต่างๆ

.

สภาพการทำงานที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่สามารถยืดหยุ่นได้ยังมีผลต่อการติดต่อของโรค ซึ่งโดยมาก ใช้แรงงานเป็นแรงงานชาวต่างชาติ เช่นการติดเชื้อกันในพื้นที่แออัดของโรงฆ่าสัตว์ในเยอรมันนีถึงราวๆ 1,500 ราย

.

ในขณะที่ประเด็นเรื่องชาติกำเนิดหรือความเป็นผู้อพยพของแรงงานต่างชาติหรือผู้อพยพในประเทศ OECD นั้นมีทั้งในด้านบวกและลบ โดยส่วนมากมุมมองด้านบวกจะขึ้นอยู่ในประเทศที่แรงงานสาธารณสุขส่วนใหญ่นั้นมีถิ่นฐานมาจากต่างแดน ในขณะที่ผู้อพยพและแรงงานชาวต่างชาติก็ตกเป็นเป้าในการโจมตี ในการเป็นตัวแปรของการแย่งงาน และทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้นย่ำแย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น

.

แนวทางการจัดการประเด็นต่างๆ เหล่านี้ในกลุ่ม OECD นั้นมีตั้งแต่การยืดระยะเวลาการอยู่อาศัย การให้ความช่วยเหลือทางปัจจัยด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย และการเงิน การให้อุปกรณ์การศึกษาและเตรียมความพร้อมปรับตัวสู่การทำการศึกษาทางไกล รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความหลากหลาย ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจองค์รวมจากการมีแรงงานชาวต่างชาติ ผ่านตัวแทนภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึง Social Media Influencers

.


ละตินอเมริกา


การศึกษาโดย United Nations Development Programme (UNDP) ต่อกลุ่มผู้อพยพชาวเวเนซูเอล่าจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในช่วงทศวรรศนี้นั้นพบว่า กลุ่มผู้อพยพในประเทศโคลัมเบียสูญเสียงานประจำ ที่อยู่อาศัย ทำให้มีการออกมาใช้พื้นที่สวนสาธารณะในการพักอาศัยกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งยังก่อให้เกิดกระแสการแบ่งแยก และเหยียดเชื้อชาติผู้อพยพว่าเป็นต้นเหตุแห่งการระบาดของโรค COVID-19 ในเปรูแรงงานอพยพที่อยู่นอกระบบยังไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนและสวัสดิการต่างๆได้ รวมถึงในอีกหลายๆประเทศที่เกิดการผลักดันแรงงานชาวเวเนซูเอลากลับถิ่นกำเนิดที่ประสบปัญหาความล้มเหลวทางเศรษฐกิจเรื้อรัง จนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงค่ายกักตัวที่ขาดมาตรฐาน และสุขภาวะที่ดีอันส่งผลให้เกิดการระบาดซ้ำ หรือโรคติดต่อ และอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ภายในพื้นที่กักกันเสียเอง

.

การเข้าถึงความช่วยเหลือที่ให้ต่อแรงงานและผู้อพยพชาวเวเนซูเอล่าของแต่ละประเทศในละตินอเมริกานั้นขึ้นอยู่กับนโยบาย และมุมมองของแรงงาน และผู้อพยพชาวต่างชาติ ซึ่งหลายๆประเทศนั้นมีการให้ความสำคัญต่อประชาชนผู้ซึ่งถือสัญชาติของประเทศเหล่านั้นเท่านั้นโดยละเลยความต้องการของประเทศต่างๆ

.

จะเห็นได้ว่าประเด็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานรายได้ต่ำหรือผู้อพยพนั้นมีความเปราะบาง ด้วยปัจจัยด้านการอยู่อาศัย และการเข้าถึงบริการต่างๆ ร่วมกันทั้งโลก รวมถึงมุมมองของประชากรท้องถิ่นต่อประชาชนทั่วไปนั้นส่งผลถึงภาพลักษณ์และการสนับสนุนนโยบายเชิงมนุษยธรรม และการให้สวัสดิการและความช่วยเหลือต่อคนอย่างเท่าเทียมกัน

.


อ้างอิง

- What is the impact of the COVID-19 pandemic on immigrants and their children? - OECD (2020) http://www.oecd.org/.../what-is-the-impact-of-the-covid.../

- Migrant workers and COVID-19 - David Koh (2020) https://oem.bmj.com/content/77/9/634

- Situation of migrants in Latin America within the COVID-19 context - Segnana (2020)



การจัดการปัญหา


หากกลับมาที่การเกิดการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 จากจังหวัดสมุทรสาครนั้น แนวทางการจัดการกับปัญหาต่างๆ คงต้องจำแนกออกเป็นสองช่วง คือ การจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า และการจัดการปัญหาระยะยาว

.


การจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า


ในการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้านั้น มาตราการต่างๆที่คาดหวังผลได้อย่างแน่ชัดควรถูกนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดให้ทันท่วงที ในกรณีการระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มต้นจังหวัดสมุทรสาคร เช่นมาตรการขอความร่วมมือจำกัดการเดินทางเข้าออกสำหรับชาวไทย และบังคับใช้การระงับการเข้าออกจังหวัด และกักกันชุมชนของแรงงานชาวต่างชาติที่มีความเสี่ยงสูง ในพื้นที่จำกัด (โดยอิงพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคระบาด COVID-19) เข้าใจได้ว่าเป็นการจำกัดควบคุมวงการระบาดของ COVID-19 เพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง และอาจจะนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆในประเทศในอนาคตอันใกล้

.

อย่างไรก็ดีควรมีความละเอียดอ่อน และใช้มุมมองและความรู้ความเข้าใจด้านมนุษยธรรมเข้ามาประกอบการตัดสินใจต่างๆ แทนที่มาตรการที่ใช้ หรือสื่อถึงการจำกัดสิทธิสภาพของปัจเจกบุคคลที่รุนแรงเกินจำเป็น เพียงเพราะหวังผลที่เด็ดขาดมากเกินไป เช่น ภาพการใช้กำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ในการควบคุมฝูงชน แทนที่การใช้มาตรการควบคุมพื้นที่ด้วยอุปกรณ์และวิธีการทางสาธารณสุข ที่เหมาะสมและมีผลโดยตรงต่อการระบาดมากกว่า ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการระบาดของ COVID-19 ในระลอกแรกนั้น มาตรการกักกันประชาชนสัญชาติไทยของรัฐเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือมีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นปัญหาอย่างทันท่วงที

.

ความโปร่งใสและการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้แบบ real-time เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่รัฐควรพัฒนาต่อไป เพิ่มความทันท่วงที ให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการสร้างความตระหนักถึงการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างแข็งขัน แต่ไม่สร้างความตื่นตระหนก และระมัดระวังไม่สื่อสารข้อมูลด้วยความลำเอียง หรือนำปัจจัยด้านชาติและถิ่นกำเนิดเข้ามาเป็นประเด็นในการผลักดันมาตรการควบคุมโรคต่างๆ

.


การจัดการกับปัญหาระยะยาว

.

COVID-19 เป็นเพียงตัวเร่ง หรือสิ่งสะท้อนให้เห็นระบบโครงสร้างของรัฐต่อมนุษย์ ผ่านความแตกต่างของชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิด ซึ่งควรถูกทำความเข้าใจเสียใหม่ แน่นอนว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต่างกันระหว่างประเทศนั้นส่งผลถึงการสร้างกำแพงทางกฎหมาย และขั้นตอนต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามคงต้องเริ่มต้นจากการนิยามและทำความเข้าใจความเป็นประชากรเสียใหม่ โดยก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ และมุ่งไปที่สิทธิของมนุษย์ที่พึงได้รับเป็นหลัก เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรและพื้นที่ต่างๆกับกลุ่มประชากร ได้เหมาะสมกับความแตกต่างและหลากหลาย ด้วยเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ อายุ ของพลเมือง ให้มีระบบการบริการ สวัสดิการที่สามารถโอบรับความหลากหลาย การให้บริการด้านสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ครอบคลุม และใช้ทรัพยากรต่างๆอย่างคุ้มค่าที่สุด และครอบคลุมประชากรมากที่สุด

.

การหาจุดสมดุลย์ระหว่างตลาดที่เสรี และการเข้าถึงสิทธิของแรงงานที่พึงมีอย่างถ้วนหน้านั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมในหลายๆ สังคมรวมถึงสังคมไทยอยู่มาก การสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจต่อสังคม เรื่องระบบเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์จากการแรงงานราคาต่ำ แรงงานต่างชาติ หรือการออกนอกระบบที่เป็นปัญหาอยู่ในกลไกตลาด รวมถึงพลวัตของตลาดที่มีปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการขจัดมายาคติที่นำไปสู่การเหยียดชนชั้น และชาติพันธุ์อยู่มาก รวมถึงการสร้างความเข้าใจตลาดแรงงาน การโยกย้ายถื่นฐานอย่างเป็นระบบ เป็นพลวัต มากกว่าการจัดการ หรือการควบคุมตลาดแรงงานแบบครั้งเดียวจบ



บทสรุป


ในบทความฉบับนี้ ได้มุ่งไปที่ประเด็นไปที่แรงงานต่างชาติที่มีความเปราะบาง ซึ่งเกิดจากกลไกทางเศรษฐกิจ และช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่การระบาดของ COVID-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงและต้นทุนแฝงที่เป็นภาระที่ถูกผลักไปให้ผู้ใช้แรงงาน

.

ความท้าทายในการจัดการปัญหานั้นมีสาเหตุจากความไม่เพียงพอของข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลประชากรโดยมีปัจจัยด้านเชื้อชาติ และชาติพันธุ์ที่เป็นอุปสรรคทางการจูงใจ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการไม่ตระหนักถึงต้นทุนแฝงที่แรงงานต่างชาติในกลุ่มเปราะบางเหล่านี้นั้นแบกรับไว้

.

ความแตกต่างของมาตรฐารการจัดการโดยมีประเด็นด้านเชื้อชาติ และสถานะความเป็นประชากรของกลุ่มแรงงานต่างชาติที่มีความเปราะบางอยู่แล้วนั้น สะท้อนประเด็นค่านิยม ความเชื่อ และการกีดกันระหว่างชนชั้นและเชื้อชาติที่ไหลวนอยู่ในสังคมไทย รวมถึงในระบบการบริหารจัดการต่างๆของรัฐออกมาอย่างชัดเจน

.

ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อประชากรกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติ มองกันในฐานะพลเมือง และมนุษย์คนหนึ่ง รวมถึงการเป็นฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจของสมุทรสาคร และประเทศไทยนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า และในอนาคต เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์นั้นต่างก็ใช้และแบ่งปันพื้นที่ต่างๆ ผลประโยชน์ต่างๆ ผ่านการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เป็นเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การหลีกหนีความจริง หรือมายาคติเรื่องภาพความเป็นสากลของเมืองที่แปรผันตามขนาดเศรษฐกิจของเมืองนั้น อาจจะใช้ไม่ได้สำหรับเมืองหลายๆเมือง หลายๆพื้นที่ในโลกนี้ การพัฒนาเมืองและนโยบายเพื่อตอบรับและโอบอุ้มความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ความเชื่อ และลำดับขั้นทางเศรษกิจต่างๆนั้นดูจะเป็นทางออก และเป็นอุดมคติ ของการอยู่กันเป็นสังคมที่มีความสามารถในการปรับตัว และมีความยั่งยืนมากที่สุด



บทความโดย จิรภัทร จิตวัฒนาศิลป์



1 view0 comments

Comments


bottom of page