top of page

เพื่อนๆ เคยมีปัญหาสุขภาพจิตกันบ้างมั้ย แล้วแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร?

ในสถานการณ์โควิด-19นี้ ปัญหาอีกอย่างที่ละเลยไม่ได้คือปัญหาสุขภาพจิต ถึงแม้ปัญหาสุขภาพจิตจะถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ แต่การรับรู้ถึงการมีอยู่ของปัญหาก็ไม่เหมือนกับความเข้าใจปัญหาโดยแท้จริง ความเข้าใจผิดจากคนรอบตัวอาจทำให้ปัญหาแย่ลง ผู้ป่วยหลายคนรู้สึกเหมือนตัวเองต้องต่อสู้คนเดียว และในวันที่ปัญหาโรคระบาดที่มาพร้อมการกักตัวและปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตแย่ลงได้อีก หลายคนอาจเคยมีอาการซึมเศร้าเป็นครั้งคราวแต่ไม่ได้หนักหนาต่อเนื่องก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว คนที่เคยสุขภาพจิตดีอาจเริ่มนอนหรือกินเยอะเพื่อหนีปัญหา แม้แต่คนที่ชอบอยู่บ้านและไม่ได้รับผลกระทบมากมายก็ยังรู้สึกโดนจำกัดสิ่งที่ตนเองจะทำได้ หรือพลอยรู้สึกแย่ตามข่าวคราวของสถานการณ์สิ้นหวังรายวัน


เมื่อตอนที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ในวันที่เรารู้สึกแย่ วิธีแก้ปัญหาสามัญประจำบ้านของเราคือการออกไปเดินเล่นในละแวกบ้านก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นแล้ว มันอาจไม่ได้ทำให้ปัญหาในชีวิตเราหายไป แต่ก็เบี่ยงเบนความรู้สึกเศร้าซึมให้เราอยู่กับปัจจุบันและดำเนินชีวิตตามปกติได้ดีขึ้น แต่สภาพเมืองของกรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่อื่น ๆ ในประเทศไทย อาจจะไม่ใช่ทางออก แม้กระทั่งการอยู่ในเมืองก็อาจเพิ่มปัญหาเมื่อเราต้องเผชิญกับทั้งฝุ่น ควัน ทางเดินที่มีน้ำพร้อมกระเด็นออกมาจากซอกบล็อคคอนกรีต หรือแม้แต่ความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเดินคนเดียวตั้งแต่ตะวันยังไม่ตกดินในหลาย ๆ พื้นที่ ครั้นจะหนีกลับเข้าไปแอบในห้องนอนแล้วคลุมโปงก็ยังทำไม่ได้เพราะหลายคนต้องแชร์ห้องนอนกับรูมเมททำให้ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ชีวิตคนเมืองหลายคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด อาจเป็นหอพัก ห้องเช่า คอนโดที่ไม่ได้มีพื้นที่ส่วนตัวมากนัก เมื่อไม่มีพื้นที่ส่วนตัว หนีไปเดินห้างสรรพสินค้าอย่างที่เคยไม่ได้ และเมืองยังไม่มีพื้นที่สาธารณะที่รองรับปัญหานี้ ผู้คนมากมายต้องจมอยู่กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรุงเทพมหานครอาจไม่ได้ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรร ภูเขา หรือทะเลสาป แต่สภาพเมืองที่น่าอยู่ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองได้


เมื่อพูดถึงความช่วยเหลือที่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะได้รับก็สามารถทำได้ในเบื้องต้นเท่านั้น เช่นประเมิณระดับความเครียดทางแอพพลิเคชั่นไลน์จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อได้ระดับความเครียดสูงสุด สิ่งที่เราจะได้คือวิดิโอฝึกการหายใจ ซึ่งช่วยได้ในเมื่อเรามีระดับความรู้ตัวพอที่จะดูแลตัวเองได้ แต่ในหลายๆ คน ปัญหาความเครียดซับซ้อนมีหลายมิติและต้องการคนรับฟัง สายด่วนสุขภาพจิตอาจคู่สายเต็ม และการจะไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องยากลำบาก เนื่องจากการเข้าถึงจิตแพทย์ในประเทศไทยนั้นมีต่ำมาก หากไม่ต้องรอทั้งวันเพื่อเข้าพบในโรงพยาบาลรัฐ ราคาต่อชั่วโมงในโรงพยาบาลเอกชนก็ประมาณ 2000 บาทขึ้นไป ไม่ใช่ราคาที่ผู้มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยหลายคนยังไม่กล้าไปหาจิตแพทย์เพราะกลัวถูกหาว่าเป็นบ้า ซึ่งจริง ๆ แล้วจิตใจคนเราก็ป่วยได้เหมือนร่างกาย การทำให้ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ผู้คนยอมรับและพูดถึงได้โดยทั่วไปนั้นสำคัญมาก


ใน Phase 2 ของ Covid Relief Bangkok จึงมีแผนการฟื้นฟูชุมชนในระยะกลางด้วยการฝึกสอนอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตและสามารถระบุได้ว่าใครกำลังประสบปัญหาอยู่ เราได้ไปร่วมฟังอบรมกับอสส. ผู้บรรยายคือคุณซานจู จากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และยังเป็นนักกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพจิตมาให้ความรู้เกี่ยวกับการรับฟังผู้ป่วยอย่างเข้าอกเข้าใจเพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนในชุมชนกล้าเล่าปัญหาสุขภาพจิตของตนเอง เนื่องจากคนเรามักไม่กล้าเล่าให้คนใกล้ตัวฟังเพราะกลัวโดนตัดสิน การเล่าให้คนแปลกหน้าที่มีความเข้าอกเข้าใจและเป็นผู้ฟังที่ดีจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้มากกว่า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย การรับฟังที่ดีเป็นเหมือนการเอาผ้าพันแผลมาห้ามเลือดปฐมพยาบาลเบื้องต้น


ถึงแม้ว่าวันหนึ่งวิกฤติโควิด-19 จะหมดไป แต่ปัญหาสุขภาพจิตก็ไม่ได้หายไปด้วย การที่คนในชุมชนจะมีใครสักคนมาคอยรับฟังปัญหาอย่างเข้าอกเข้าใจเป็นเรื่องที่เราดีใจอย่างมาก และหวังว่าหลังจากนี้สังคมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าที่ผ่านมา


หากผู้อ่านสงสัยว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต สามารถรับความช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่: Line น้องสายด่วนสุขภาพจิต: @147nzgad สายด่วนสุขภาพจิด 1323 สมาคมสะมาริตันส์ 02–713–6793 https://bit.ly/367bUQc https://www.facebook.com/helpline1323/

Article in English: https://bit.ly/2ThJn5l

2 views0 comments
bottom of page