top of page
Writer's pictureprai wong

กรุงเทพฯ… ชีวิตดี ๆ ที่(ไม่)ลงตัว


“กรุงเทพฯ… ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” สโลแกนดังที่ชวนให้เราตั้งคำถามในใจทุกครั้งที่เห็นว่า เรามีชีวิตที่ดีในกรุงเทพฯ จริงหรือไม่ ? แน่นอนว่า มีหลายอย่างที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่หลายคนต่างก็เห็นตรงกันว่า เมืองหลวงแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหาร้อยแปดที่ถูกซุกซ่อนไว้ และยังห่างไกลจากเมืองในอุดมคติของใครหลาย ๆ คนอยู่ แต่ถ้าจะให้นั่งไล่พูดถึงปัญหาของคนกรุงเทพฯ ให้ครบทั้งหมด ก็คงต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ Urban Studies Labs จึงได้ไปพูดคุยกับนักวิชาการ และบุคคลที่สนใจและทำงานเกี่ยวกับเมือง ถึงปัญหาความยุ่งเหยิงของผังเมืองกรุงเทพฯ และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยเรื่องหงุดหงิดกวนใจตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาในยามเช้า จนวินาทีสุดท้ายก่อนปิดไฟลงนอน ซึ่งเราได้สรุปออกมาได้ถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่มีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวสักที

ปัญหาสำคัญของกรุงเทพฯ และประเทศไทย คือ ความเป็นศูนย์กลางนิยม (#Centralism) กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยความเจริญ โอกาส และความมั่งคั่ง ทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ที่กรุงเทพฯ และด้วยเหตุนี้ ทำให้คนจำนวนมากพากันหลั่งไหลเข้ามาหาโอกาส ตั้งถิ่นฐาน และทำงานในกรุงเทพฯ กันหมด กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างของไทย

.

ในขณะเดียวกัน แม้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่พรั่งพร้อมไปด้วยทุกอย่าง แต่มันกลับต้องพึ่งพิงเมืองขนาดเล็กโดยรอบเสมอมา โดยเฉพาะในแง่ของทรัพยากรและแรงงาน กรุงเทพฯ มีประชากรเยอะที่สุดในประเทศไทยก็จริง แต่ในจำนวนกว่า 10 ล้านคน มีคนที่มีที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ในกรุงเทพฯ หรือ ‘#คนกรุงเทพฯ’ จริง ๆ เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า เมืองหลวงแห่งนี้เป็นเมืองที่ต้องดึงทรัพยากร ดึงผู้คนออกจากพื้นที่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตัวเอง จนกลายเป็นเมืองที่ร่ำรวย มากไปด้วยโอกาส และเจริญล้ำหน้าเมืองอื่น ๆ ในไทย


อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวิชาการหลายท่านกลับมองว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น้อยลงทุกวัน โดยเฉพาะในแง่คุณภาพในการอยู่อาศัยและพื้นที่ คอนโดมิเนียมที่ขายกันในกรุงเทพฯ เริ่มมีขนาดห้องเล็กลงเรื่อย ๆ มีการแก้กฎหมายในเรื่องพื้นที่ห้องนอนให้เล็กลง เพื่อรองรับแรงงานจำนวนมากที่โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานและแสวงหาโอกาสในกรุงเทพฯ รวมไปถึงเมื่อมีคนเยอะขึ้น สาธารณูปโภค สาธารณูปการและสิ่งจำเป็นพื้นฐานจึงถูกแย่งถูกใช้กันมากขึ้น จนเกิดความขาดแคลนไม่เพียงพอได้ ซึ่งแน่นอนว่า มันทำให้คุณภาพชีวิตและพื้นที่การอยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ เริ่มถดถอยลงด้วยเช่นกัน


สถานการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ นำมาสู่คำถามที่สำคัญว่า กรุงเทพฯ ของเรากำลังพัฒนามาถูกทางหรือไม่ ? ทำไมกรุงเทพฯ ถึงต้องดึงทรัพยากรและแรงงานจากพื้นที่อื่น ๆ มาตอบสนองการพัฒนาของตนเองขนาดนี้ ? และเราสามารถส่งเสริมเมืองรองในภูมิภาคต่าง ๆ ให้มีศักยภาพมากขึ้นได้หรือไม่ ?


ด้วยความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ในเกือบทุกมิติ ทำให้กรุงเทพฯ มีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน และปัญหาหนึ่งที่ยังคงเป็นเรื่องไม้เบื่อไม้เมามานาน ทั้งระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ คนกรุงเทพฯ คือเรื่องการบริหารจัดการและการใช้ #พื้นที่ทางเท้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เป็นระเบียบ ความทรุดโทรม ความสกปรก หรือกระทั่งเรื่องข่าวการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและ #ระบบมาเฟีย ในธุรกิจบนทางเท้าต่าง ๆ แถมยังมี #ปัญหาทับซ้อนของหน่วยงาน ไม่สามารถตอบสนองหรือแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากพอ สุดท้ายปัญหาต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม


ซึ่งที่ผ่านมา #ความชักช้า ในการจัดการปัญหาในเรื่องต่าง ๆ นี้ จะโทษระบบราชการอย่างเดียวก็คงไม่ได้ อันที่จริงต้นเหตุของความไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหานี้ อาจจะมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรม ‘#การรักษาหน้า’ เพราะถ้าเราสังเกตดีๆ จะพบว่า ทุกครั้งที่มีการร้องเรียนปัญหาผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่ามีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รีบเข้าไปเร่งให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ทันที


นอกจากวัฒนธรรมการรักษาหน้าแล้ว ยังมีการทำงานแบบวลี ‘#ผักชีโรยหน้า’ และ ‘#ขายผ้าเอาหน้ารอด’ ที่สะท้อนวัฒนธรรมการทำงานในระบบราชการแบบพอให้เสร็จ ๆ ไป ให้พ้นสถานการณ์นั้น ๆ ไปก่อน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ขาดคุณภาพ และขาดการวางแผนระยะยาวและการทำงานอย่างต่อเนื่องจนเสร็จสมบูรณ์ ฉะนั้น เรื่องหน้าตาและชื่อเสียง จึงเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน อาจจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนมีความลุ่มๆ ดอน ๆ มานานหลายทศวรรษ


ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่การกล่าวโทษหรือบ่นภาครัฐแต่ถ่ายเดียว เพราะในปัจจุบัน เรายังพอเห็นหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่ง ที่มีการปรับตัวและพยายามให้ความสำคัญและใส่ใจในการทำงาน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของภาครัฐหลายประการ จึงอาจจะไม่สามารถทำงานให้ประชาชนได้อย่างทันท่วงที


ท้ายที่สุด ปัญหาทั้งหลายในกรุงเทพฯ จะดีขึ้นได้ ถ้าเรามีการ #ปฏิรูป ระบบฐานข้อมูลด้านการผังเมืองอย่างชัดเจนและจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันนี้ ข้อมูลทั้งหลายที่ผู้ปกครองใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านผังเมืองยังล้าหลังอยู่มาก บวกกับการขาดการอัปเดทข้อมูลใหม่ ๆ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ความฝันที่เราจะมีชีวิตที่ดีในกรุงเทพฯ ยังเป็นแค่เพียงฝันกลางวันเท่านั้น


ลองจินตนาการดูว่า ถ้าแต่ละหน่วยงานใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เช่น กรมที่ดิน กรมป่าไม้ และกรมผังเมือง ใช้แผนที่เดียวกันในการออกแบบนโยบาย ก็คงทำให้ผังเมืองของกรุงเทพฯ มีความใกล้เคียงกับสภาพของแต่ละพื้นที่ได้ดีขึ้น และถ้าแต่ละหน่วยขยันเก็บข้อมูลให้บ่อยขึ้น เราก็คงได้เห็นนโยบายที่ทันสมัยมากพอที่จะตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วมากขึ้น


นอกจากนี้ ถ้าเราเปิดโอกาสให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ ก็จะเป็นการเปิดให้ทุกคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้เข้ามาตัดสินใจชะตาชีวิตของเขาเอง จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นมิติอื่น ๆ ที่นอกจากมิติทางด้านปกครองในการออกแบบเมืองได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายเบื้องต้นในการผังเมืองจำนวนมาก มีที่มาจาก #มิติทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี เช่น เรื่องของช่องระบายอากาศ ปริมาณแสงแดด ความปลอดภัยของตัวอาคาร เป็นต้น


เราต่างก็รู้ดีว่า การป้องกันโรคระบาดและปัญหาภาวะโลกร้อนจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบเมืองมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การเปิดโอกาสให้บุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองจะช่วยยก #ระดับคุณภาพชีวิต ของคนกรุงเทพฯ ได้แน่นอน


กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุก ๆ คนที่อาศัยและทำงานอยู่ในนี้ เราทุกคนจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง และกระทุ้งผู้ปกครองให้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของการออกแบบเมืองด้วยมิติอื่น ๆ ด้วย

Comentarios


bottom of page